โรคจิตเภท เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยจะเกิดความผิดเพี้ยนในเรื่องของความคิด ไม่สามารถรับรู้ความเป็นจริงได้อย่างถูกต้องจนเกิดผลเสียกับการใช้ชีวิต
การวินิจฉัยโรคนี้เป็นไปได้ค่อนข้างยากเพราะจะมีอาการแสดงออกมาในช่วงอายุที่ไม่แน่นอน แต่โดยเฉลี่ยแล้วอาการจะแสดงออกชัดเจนตอนที่ช่วงอายุประมาณ 28.9 ปีและยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุจึงทำให้สังเกตได้ยาก
แต่ในปัจจุบันได้มีงานวิจัยออกมาระบุแล้วว่าแม้เราจะเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมคือสิ่งสำคัญ แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคดังกล่าวจริงๆ แล้วก็ก็คือ “พันธุกรรม” ที่เราได้รับมาจากพ่อแม่และมีติดตัวมาแต่กำเนิด
งานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสาร Biological Psychiatry โดยแรกเริ่มเดิมที มีการวิจัยขึ้นเพื่อสังเกตว่าระหว่างสิ่งแวดล้อมกับพันธุกรรม สิ่งไหนจะมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคจิตเภทมากกว่ากัน
จากการศึกษากับฝาแฝดในเดนมาร์กที่เกิดตั้งแต่ปี 1870 จำนวนกว่า 30,000 คู่ในข้อมูลทะเบียนประชากรฝาแฝดควบคู่กับข้อมูลด้านจิตเวชศาสตร์ พบว่ากว่า 79 เปอร์เซนต์ของกลุ่มตัวอย่างนั้น พันธุกรรม ที่เด็กได้รับมาจากพ่อแม่เป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเภทมากกว่า
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเพิ่มเติม นำข้อมูลดังกล่าวไปศึกษาให้กว้างขึ้น จนได้ตัวเลขประมาณที่ 73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพันธุกรรม ที่เป็นสาเหตุหลักมากกว่าหลายๆ สิ่ง
ดอกเตอร์ John Krystal บรรณาธิการของหนังสือที่ตีพิมพ์งานวิจัยดังกล่าวบอกว่า “ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า พันธุกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการทำให้เกิดโรคจิตเภท”
อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เพราะแม้ว่าพ่อแม่จะป่วยเป็นโรคจิตเภท แต่ก็ไม่ได้แปลว่าลูกทุกคนจำเป็นที่จะต้องป่วยเป็นโรคนี้เสมอไปเช่นกัน
นอกจากนั้น เรื่องความแตกต่างของประชากรในแต่ละประเทศ ก็อาจมีส่วนทำให้ผลการวิจัยไม่สามารถอธิบายคนทั้งโลกได้ว่าจะเป็นเหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้ได้มีงานวิจัยในลักษณะนี้จากหลายประเทศที่มีผลลัพธ์ออกมาต่างกันไป
นอกจากจะรู้สาเหตุแล้วสิ่งที่เราคาดหวังคือ อยากให้มีการรักษาหรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคจิตเภทมากกว่า รวมถึงความเข้าใจจากสังคมรอบข้าง ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้ก็สำคัญมากเช่นกัน
ที่มา: sciencealert , ibtimes
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.