ทำไมคนเกาะซามัว 95% ถึงเป็นโรคอ้วน บทเรียนที่ประเทศไทยควรเอามาคิดตาม..!?

ไม่น่าเชื่อว่า ‘ประเทศซามัว’ กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตโรคอ้วนที่มีประชากรเป็นมากถึง 95% เลยทีเดียว และนับว่าเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นโรคอ้วนเยอะที่สุดในโลก อีกทั้ง 1 ใน 3 ของประชากรยังป่วยเป็นเบาหวานอีก..!!

และคราวนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันว่า ทำไมประชากรที่นี่ถึงต้องเผชิญกับวิกฤตโรคอ้วน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นบทเรียนที่ทำให้คนไทยเราหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น

 

Tavita ชาวพื้นเมืองอีกคนหนึ่งที่กำลังต่อสู้กับโรคอ้วน

 

อดีตคนขับแท็กซี่ Tavita เล่าว่า ก่อนหน้านี้เขามักจะดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำวันละ 2 ลิตร ขนมหวานจุกจิก อีกทั้งยังรับประทานแต่อาหารประเภทที่มีไขมันสูง

“ผมรู้สึกเป็นห่วงสุขภาพตัวเองมากๆ ตอนนี้น้ำหนักตัวมันมากเกินไป และมันก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเรา ด้วยความรักที่มีต่อภรรยาและลูกๆ เราก็อยากจะอยู่กับพวกเค้าไปนานๆ” Tavita กล่าว

 

 

แต่ดูเหมือนว่าปัญหา ‘โรคอ้วน’ ของชาวซามัวจะมีปัจจัยที่มากกว่าพฤติกรรมการบริโภคแบบจุกจิก เพราะข้อมูลจาก WHO พบว่า พฤติกรรมการบริโภคยังส่งผลตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงสุขภาพโดยรวมด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นยังพบว่ากว่า 9 ใน 10 ของชาวซามัว ยังต้องต่อสู้กับโรคอ้วน และตัวเลขของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 ในแต่ละปีพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย

(เบาหวานประเภท 2 ส่วนใหญ่มักเกิดในกลุ่มคนอ้วนที่ขาดการออกกำลังกาย ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินร่างกายส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ)

 

 

Laurie May หญิงวัย 28 ปี ชาวเกาะซามัว หนึ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ความเห็นว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะอาหารมื้อหลักในชีวิตประจำวันของชาวซามัว มักเต็มไปด้วยไขมันเลว ดื่มน้ำอัดลมเยอะ และทานผักผลไม้น้อย

Dr. Helene Stehlin เจ้าของคลีนิครักษาโรคเบาหวานได้ชี้ว่า “จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่เราเจอมา พบว่าชาวเมืองส่วนมากยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสารอาหารและความสำคัญของสุขภาพร่างกาย

หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลที่สุด คือการทำให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าของโภชนาการ และตระหนักรู้ว่าอาหารแต่ละมื้อในชีวิตประจำวันของพวกเขา ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมมากขนาดไหน”  

 

ในปัจจุบันปัญหาโรคอ้วนในไทย ตามข้อมูลของแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ระบุเอาไว้ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเพิ่มมากขึ้นในเด็กวัยเรียนประมาณ 2%

ส่วนวัยผู้ใหญ่ ปัญหาโรคอ้วนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าไว้วางใจ สำหรับผู้ใหญ่ตอนต้น (ช่วงอายุ 20-29 ปี) ผู้ที่เป็นโรคอ้วนในช่วงระยะเวลาห้าปีนี้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน คือเพิ่มในอัตราร้อยละ 36 ในผู้ชาย และร้อยละ 47 ในผู้หญิง

หลายคนยังไม่ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยง ขณะที่พ่อแม่หลายคนก็อยากขุนลูกตัวเองให้ดูอ้วนจ้ำม่ำน่ารัก ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มักจะนำมาซึ่งปัญหาของเด็กเหล่านั้นเมื่อโตไปในอนาคตได้

แม้ว่าประเทศซามัวจะไม่ได้มีพรมแดนติดกัน และปัญหาโรคอ้วนไม่ใช่โรคติดต่อที่ส่งผลมาได้ แต่การรู้จักวิธีดูแล ป้องกัน และใช้ชีวิตให้มีสุขภาพที่ดีก็เป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง…

 

.

ที่มา: Sbsfhpprogram

Comments

Leave a Reply