จริงอยู่ที่การ ‘ปล่อยโคมลอย’ จะกลายมาเป็นหนึ่งในประเพณีประจำปีของไทยเรา โดยเฉพาะในช่วงลอยกระทง ทว่าสิ่งที่มาพร้อมกับความหวังในคำอธิษฐาน กลับเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตอื่นไปซะได้!?
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2017 เว็บไซต์ Metro ได้รายงานเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ กับนกฮูกสายพันธุ์หายากตัวหนึ่งที่บินไปติดโคมลอยและกลายเป็นภาพสุดเศร้าให้เราต้องมาตระหนักถึงประเพณีการปล่อยโคมลอยกันอีกครั้ง
สภาพของนกฮูกที่เสียชีวิตเพราะบินไปติดกับโคมลอย
เรียกได้ว่าจากเหตุการณ์นี้… ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในประเทศอังกฤษ ต้องกลับมาตั้งคำถามถึงการปล่อยโคมลอย ที่อาจนำมาซึ่งผลเสียมากกว่าผลดีทางจิตใจ โดยในแต่ละปี จะมีการปล่อยโคมลอยประมาณ 200,000 ลูกในประเทศอังกฤษ
ข้อมูลจากองค์กร RSPCA เผยว่า ‘โคมลอย’ ที่เป็นประเพณีดั้งเดิมจากประเทศจีน ได้สร้างผลกระทบมากมายให้แก่สิ่งแวดล้อมทั่วโลก ไม่ว่าจะกับผืนป่า หรือสัตว์ป่าก็ตาม
แล้วโคมลอยมันอันตรายยังไง?
ด้วยความที่ประเพณีไทยเรามีการฝังความเชื่อเรื่องการอธิษฐานถึงสิ่งดีๆ และเชื่อว่าการปล่อยโคมจะช่วยสะเดาะเคราะห์กรรมได้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังปล่อยไปแล้ว.. โคมลอยที่มีความร้อนสูงได้สร้างปัญหามากมายให้กับทั้งธรรมชาติ และชาวบ้านด้วยกันเอง
RSPCA รายงานว่า มีสัตว์ปีกหลายชนิดที่มักจะเห็นแสงไฟบนท้องฟ้าแล้วบินเข้าหา บ้างก็คิดว่าเป็นอาหารจึงใช้ปากจิกกิน และสิ่งที่ตามมาก็คือลวดของโคมลอยมักจะไปเกี่ยวติดกับขาของสัตว์ปีกและทำให้พวกมันเสียชีวิตในที่สุด
ไม่ใช่แค่กับสัตว์ปีกเท่านั้น แม้แต่สัตว์เดินดินหลายชนิดก็ต้องเผชิญปัญหานี้เช่นกัน เมื่อโคมลอยตกสู่พื้นบางครั้งไฟที่ยังมอดไม่สนิทก็อาจทำให้เกิดไฟป่าลุกลามจนกลายเป็นเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ก็มีมาแล้ว
นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่สารเคมีในโคมลอยตกสู่พื้นดิน คราบน้ำมันและการเผาไหม้ต่างๆ จะกลายเป็นสารพิษตกค้างสู่ผืนดิน และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศน์อีกด้วย..!!
ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่ได้ประกาศสั่งห้าม ‘ปล่อยโคมลอย’ อย่างจริงจัง และบางทีในฐานะคนไทยรุ่นใหม่อย่างเราเองก็อาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามถึงความหมายและคุณค่าของสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านานอีกครั้ง…
ที่มา: Metro
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.