การเปลี่ยนผ่าน “วัฒนธรรมร้านการ์ตูน” ที่กำลังหายไป และเด็กรุ่นใหม่อาจไม่ได้สัมผัสอีกแล้ว

ย้อนกลับไปในสมัยที่เราเรียนประถมหรือมัธยมเมื่อราวๆ สัก 10-20 ปีก่อน สิ่งบันเทิงในยุคนั้นก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการด์เกม เครื่องเล่นเกม รถบังคับ หรือจะเป็นความบันเทิงแบบง่ายๆ อย่างหนังสือการ์ตูน

ปัจจุบัน #เหมียวฟิ้น เองอยู่ในช่วง 20 กลางๆ ซึ่งก็เคยสัมผัสสิ่งบันเทิงต่างๆ มาเกือบหมด แต่หนังสือการ์ตูนก็ยังคงเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงที่ถูกจริตกับเรามากที่สุด และมันไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเลย ต่างจากพวกเครื่องเล่นเกมที่มีการพัฒนาหน้าตาและความสวยงาม หรือจะเป็นภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแพลตฟอร์มมาแล้วหลายรูปแบบ ก็อย่างว่าล่ะนะ หนังสือมันก็คือหนังสือ

 

 

ลองนึกย้อนไปในสมัยเรียน (ในช่วงที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย) ทุกครั้งที่เราเลิกเรียน หลายๆ คนจะมุ่งตรงไปยังร้านหนังสือการ์ตูน เพื่อดูว่าหนังสือการ์ตูนเล่มใหม่ที่เราอยากอ่านมันมาหรือยัง? หรือเล่มที่คนอื่นยืมไปจะเอามาคืนแล้วหรือยัง? เพื่อที่เราจะซื้อหรือเช่าไปอ่านกันอย่างสบายอกสบายใจ โดยทิ้งการบ้านไว้ในกระเป๋า (แล้วค่อยไปทำเอาที่โรงเรียน 555+)

หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เราเองก็ไม่ได้ติดตามอ่านมาก่อน แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามที่เพื่อนๆ ในโรงเรียนพูดถึงมากขึ้น เราก็ต้องไปขวนขวายหามาอ่าน เพื่อที่จะได้ไปโม้กับเพื่อนๆ ในวันรุ่งขึ้น

หรือหากเรื่องที่เราอยากอ่านยังไม่มีเล่มใหม่ มันก็เป็นโอกาสให้เราลองเขยิบไปดูหนังสือการ์ตูนในชั้นข้างเคียงเพื่อดูว่ามีเล่มไหนน่าสนใจอีกหรือเปล่า

 

 

จังหวะนั้นแหละที่ช่วยให้เราได้อ่านเรื่องใหม่ๆ ซึ่งเรื่องที่เราได้อ่านในช่วงนั้นก็จะเป็นพวก Bleach เทพมรณะ, Mar อิทธิฤทธิ์พิชิตมายา, Air Gear ขาคู่ทะลุฟ้า (เรื่องนี้บึ้มมาก), Reborn ครูพิเศษจอมป่วน, Conan เจ้าหนูยอดนักสืบ, Yaiba เจ้าหนูซามูไร, Flame of recca เปลวฟ้าผ่าปฐพี, Hunter X Hunter, เอ็ม x ซีโร่ ฯลฯ

 

 

แต่ดูเหมือนว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปมาก จนทำให้ในระยะหลังๆ มานี้เราได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับการปิดตัวสำนักพิมพ์ นิตยสาร หรือร้านหนังสือการ์ตูนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็เป็นเพราะว่าการเข้ามามีบทบาทของอินเตอร์เน็ตในยุคปัจจุบันนั่นเอง ที่ทำให้เหล่าสื่อสิ่งพิมพ์ค่อยๆ ตายจากเราไป

สาเหตุหลักๆ ก็เพราะว่ามันรวดเร็วและฟรี ทำให้เกิดการ์ตูนแปลออนไลน์ขึ้นมาแบบนับไม่ถ้วน ซึ่งมันก็สร้างผลกระทบให้กับร้านหนังสือและทางสำนักพิมพ์แบบที่คนอ่านเองก็อาจจะคาดไม่ถึงเช่นกัน

 

 

ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงและกลัวว่าสักวันหนึ่งเราอาจจะไม่เหลือร้านหนังสือการ์ตูนดีๆ ไว้คอยเป็นเพื่อน #เหมียวฟิ้น ก็เลยลองออกตระเวนไปหาร้านการ์ตูน 3 แห่งในเชียงใหม่ (ถิ่นของเราเอง) เพื่อชวนเหล่าร้านหนังสือการ์ตูนพูดคุยถึงอดีตอันหอมหวานของบรรยากาศในร้านขายหนังสือการ์ตูน จุดพีคในอดีต และจุดเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาเคยผ่านมา

 

1. ร้านดาว

ร้านนี้อยู่บริเวณตรงข้ามโรงพยาบาลสวนดอก เจ้าของชื่อว่าคุณกิ๊บ เธอเล่าว่าธุรกิจร้านหนังสือแห่งนี้เปิดมาได้ราวๆ 10 กว่าปีแล้ว ในช่วงแรกที่ตัดสินใจเปิดก็เพราะว่าเมื่อก่อนร้านหนังสือยังไม่ค่อยมีคนเปิดเท่าไหร่ บวกกับมีกลุ่มคนอ่านเยอะ เลยเปิดร้านขายหนังสือตั้งแต่นั้นมา

 

 

คุณกิ๊บบอกว่าช่วงที่ขายดีที่สุดน่าจะเป็นช่วงปี-สองปีแรกที่เปิดกิจการ เพราะเคยรับหนังสือการ์ตูนยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน มาขาย 100 เล่ม ก็สามารถขายหมดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ในขณะที่ปัจจุบันปรับลดจำนวนลงเหลือเพียงแค่ 10 เล่มเท่านั้น

“เคยรับโคนันมา 100 เล่มก็ขายหมดเกลี้ยง”

คุณกิ๊บเล่าถึงบรรยากาศในช่วงที่เปิดกิจการใหม่ๆ ว่ากลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งเด็กมัธยม นักศึกษา และวัยทำงาน แต่ในปัจจุบันลดลงมาก เธอบอกว่าความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจนี้ที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็คือช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ฐานลูกค้าลดลงมาก ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นก็เกินครึ่งกันเลยทีเดียว

 

 

สาเหตูหลักที่ลูกล้าลดลงเป็นเพราะอินเตอร์เน็ตที่ช่วยให้คนสามารถหาการ์ตูนอ่านได้ง่ายขึ้น แต่ถึงสถานการณ์จะเปลี่ยนไป เธอก็ยังมองว่าร้านขายหนังสือการ์ตูนน่าจะยังดำเนินต่อไปได้เพราะมีกลุ่มคนอ่านคอยมาซื้ออยู่เรื่อยๆ

เมื่อถามถึงกลยุทธในการปรับตัว คุณกิ๊บบอกว่าตอนนี้พยายามขายเล่มเก่าๆ ออกไปพร้อมกับพยายามเลือกหนังสือแปลกๆ ใหม่ๆ เข้ามาให้ลูกค้าอ่าน

 

2. ร้านตะวา

เจ้าของร้านเล่าว่าทำธุรกิจนี้มานานเกือบ 20 ปีแล้ว เมื่อก่อนการอ่านหนังสือถือเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ บางประเภทช่วยคลายเครียด และร้านหนังสือไม่ค่อยมีเลยเป็นช่องทางในการตัดสินใจเปิดร้าน

ในยุคหนังสือรุ่งเรือง หนังสือที่ขายในร้านมีแทบจะทุกชนิดทุกประเภท ลูกค้าให้ความสนใจหมด ยิ่งถ้าเป็นเรื่องดังๆ ยิ่งได้รับความนิิยมอย่างล้นหลาม

 

 

ช่วงของการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการมาของอินเตอร์เน็ต ช่วงแรกๆ ยังพอไปได้ แต่พออินเตอร์เน็ตเริ่มมีความเร็วขึ้นการอ่านหนังสือในเน็ตเลยง่ายขึ้น มีีคนเอาตอนใหม่ๆ มาอัปโหลดให้อ่านกันฟรีๆ คนเลยเปลี่ยนพฤติกรรมไปอ่านในเน็ตเพราะมันเร็วกว่า

ส่วนร้านหนังสือจะหายไปไหมมันขึ้นกับสำนักพิมพ์กับการบริหารจัดการของแต่ละร้าน เพราะแต่ละร้านมีต้นทุนในการบริหารจัดการไม่เท่ากัน

 

 

“คนเลยเปลี่ยนพฤติกรรมไปอ่านในเน็ตเพราะมันเร็วกว่า”

เมื่อเราลองถามมุมมองเจ้าของร้านว่าเคยเข้าไปอ่านการ์ตูนตามอินเตอร์เน็ตบ้างไหม? เลยได้คำตอบว่า “เคยและยังอ่านอยู่เพราะต้องเข้าไปดูลายเส้นกับเนื้อหาว่าไปถึงไหนแล้ว? จบหรือยัง? เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าจะเอามาให้บริการหรือป่าว”

 

 

3. ร้านตุ๊กติ๊ก

ร้านนี้เปิดมา 21 ปี ตั้งแต่ปี 2539 หนังสือการ์ตูนที่ขายดีในช่วงแรกๆ คือโคนัน, เบอร์เซิร์ก, สแลมดังก์, โดราเอมอน, ดราก้อนบอล ในช่วงที่พีคที่สุดอยู่ในระหว่างปี 2542-2544 คุณตุ๊กติ๊กเจ้าของร้านเล่าว่าตัวเองเปิดร้าน 9 โมงเช้า แต่ได้กินข้าวตอนบ่าย 2 เพราะมีคนมาต่อคิดซื้อและจ่ายเงินแบบไม่ขาดสายเลย

ครั้งหนึ่งทางร้านเคยรับโคนันมา 1,600 เล่ม รองลงมาคือนารูโตะ 1,300 เล่ม และขายจนหมดเกลี้ยง “เมื่อก่อนการ์ตูนขายดีมาก มันเหมือนเป็นธุรกิจที่ทุกคนมองข้าม” คุณตุ๊กติ๊กเล่า

 

 

คุณตุ๊กติ๊กบอกว่าในตอนแรกที่เปิดร้าน ตัวเองไม่ได้เป็นคนชอบอ่านการ์ตูนเท่าไหร่ แต่เนื่องจากสามีทำธุรกิจด้านนี้เลยต้องศึกษาและอยู่กับมัน ณ ตอนนี้สามารถถามได้เลย ว่าการ์ตูนเรื่องไหนสำนักพิมพ์อะไร ออกมากี่ตอน แกตอบได้หมด

ช่วงที่เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงกับร้านตุ๊กติ๊กเองดูจะไม่ต่างจากที่อื่นๆ สักเท่าไหร่ เพราะหลังจากที่อินเตอร์เน็ตเข้ามา ยอดขายก็ค่อยๆ ลดลง ซึ่งนอกจากอินเตอร์เน็ตแล้ว เหล่าผู้ปกครองเองก็อาจมีส่วนเช่นกัน “พ่อแม่สมัยนี้ชอบบอกว่า ‘ซื้อทำไมไปอ่านในเน็ตสิ’ เราก็อื้ม จริงๆ มันอ่านในเน็ตได้ แต่ถ้าคุณไปอ่านฟรีแล้วคนเขียนคนทำธุรกิจตรงนี้จะเอากำลังใจที่ไหนมาสานต่อ”

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายทั้งหมด เพราะแกบอกว่า “สำหรับพี่มันเหมือนเหรียญสองด้าน เมื่อก่อนลูกค้าจะมาอ่านคำโปรยที่หลังปกเพื่อดูว่ามันเป็นแนวไหน แต่หลังจากมีอินเตอร์เน็ต ลูกค้าเข้ามาถามแบบเจาะจงเลยว่าเรื่องนี้มีไหม”

 

 

บางทีการมีอนิเมะก็มีผลกับหนังสือเช่นกัน ถ้าเขาดูแล้วชอบ ลูกค้าจะกลับมาดูหนังสือที่ร้าน หรือกลับกันถ้ามีหนังสือการ์ตูนเรื่องไหนกลายเป็นอนิเมะก็จะช่วยเพิ่มยอดขายด้วย อย่างเช่นเรื่อง Inuyashiki “คือมันมาคู่กันมันส่งเสริมกัน ถ้าเรื่องไหนกระแสดีเรื่องนั้นก็จะขายดี เหมือน One Punch Man ที่ตัวละครหัวกลมๆ”

กระแสของอินเตอร์เน็ตก็มีผลกับนักอ่านรุ่นใหม่ๆ มาก คุณตุ๊กติ๊กยกตัวอย่าง Attack on Titan ที่เมื่อก่อนเด็กไม่อ่านกันเลยแต่พอมันเป็นอนิเมะเด็กๆ ชอบ เลยกลับมาซื้อหนังสือการ์ตูน

 

 

ในกรณีที่ทางร้านขายไม่หมด ทางโรงพิมพ์จะรับคืน แต่จะต้องเป็นสัดส่วนที่เขากำหนด (ในส่วนนี้คุณตุ๊กติ๊กไม่ขอเปิดเผย)

นอกจากเรื่องของยอดขายที่เปลี่ยนไปแล้ว เทรนด์ของเนื้อเรื่องก็เปลี่ยนไปเช่นกัน แกบอกว่า “เมื่อก่อนการ์ตูนจะออกแนวบู๊ อย่างจอมเก บลูส์ กับ อีกา แต่เดี๋ยวนี้จะเปลี่ยนมาเป็นแนวเลิฟคอมเมดี้ในวัยเรียน เหมือนพวก รักไร้เสียง หรือแบบ Your Name

คุณตุ๊กติ๊กมองว่าหนังสือการ์ตูนอาจจะยังไม่ถึงจุดจบ เพราะกลุ่มลูกค้ายังคงต้องการสัมผัสกระดาษ กลิ่นกระดาษ ซึ่งดีกว่าสไลด์อ่านผ่านหน้าจอที่ไม่ได้อรรถรสเท่าไหร่

 

 

พอเวลาเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเริ่มเปลี่ยน “อย่างเมื่อก่อนลูกค้าจะเป็นเด็กๆ ม.2-3 แต่เดี๋ยวนี้ลูกค้าจะกลายเป็นคนวัยทำงานมีกำลังซื้อมากขึ้น ละซื้อทีซื้อเป็นตั้งๆ เลย เมื่อก่อนยังคนละเล่มสองเล่ม ช่วงพีคๆ พ่อแม่พามาซื้อ 2-3 ถุงเลย แต่เดี๋ยวนี้น้อยมากที่พ่อแม่จะพามาซื้อ” คุณตุ๊กติ๊กเล่า

คุณตุ๊กติ๊กบอกว่าอยากให้ภาครัฐมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่านกับคนรุ่นใหม่ เพราะเนื่องจากหนังสือการ์ตูนหลายๆ เล่มมีคุณค่ามากกว่าแค่หนังสือการ์ตูน “ใครว่าการ์ตูนไร้สาระนี่พี่ว่าไม่ใช่นะ บางเรื่องสาระเพียบเลย อย่าง ซุปเปอร์ ดอกเตอร์ K หรือ Beck ที่เป็นอาชีพในญี่ปุ่น พี่ว่ามีประโยชน์นะ”

 

 

กลยุทธ์ในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของคุณตุ๊กติ๊กคือการขายออนไลน์ ลูกค้าสามารถสั่งผ่านอินเตอร์เน็ตแล้วให้ทางร้านส่งให้ทางไปรษณีย์ได้เลย หรือถ้าซื้อครบ 1,000 บาท ก็จะได้คูปองส่วนลด 100 บาท และยังมีการจัดโปรโมชั่นในแต่ละเดือน มีการจับรางวัลเป็นฟิกเกอร์เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้อหนังสือที่ร้านแกอยู่เรื่อยๆ

 

 

นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากคนในแวดวงร้านหนังสือการ์ตูน ที่เปรียบเหมือนกับโอเอซิสในวัยเด็ก และกำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนอ่านและโลกที่หมุนไปเร็วจนหลายๆ คนปรับตัวแทบไม่ทัน และหากจะมีอะไรที่คนอ่านอย่างเราพอจะทำได้ ก็คงจะเป็นการช่วยกันอุดหนุนซื้อการ์ตูนแท้นี่แหละที่พอจะช่วยต่อลมหายใจให้กับพวกเขาได้

เรียบเรียง&สัมภาษณ์ เหมียวฟิ้น

Comments

Leave a Reply