จิตวิทยาคือศาสตร์อย่างหนึ่งในการพยายามทำความเข้าใจมนุษย์ ว่าภายในจิตใจของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีขั้นตอน รูปแบบต่างๆ อย่างไรกันบ้าง ซึ่งหนึ่งในวิธีที่สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นได้ดีก็คือการทดลอง
หลายคนอาจเคยเห็นการทดลองทางจิตวิทยากันมาบ้างแล้ว แต่วันนี้เรามาพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับการทดลองแปลกๆ เจ๋งๆ ที่อาจไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน ไปดูกันเลยว่าเป็นการทดลองแบบไหนและผลลัพธ์ที่ได้ช่วยให้สามารถเข้าใจมนุษย์ได้มากขึ้นจริงๆ หรือเปล่า?
1. The Piano Stairs Experiment
นี่เป็นการทดลองแฝงโฆษณาของบริษัท Volkswagen เรียกว่า “ทฤษฎีแห่งความสนุก” โดยเปลี่ยนบันไดในเมือง Stockholm ประเทศสวีเดน ให้กลายเป็นรูปเปียโน เพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเมื่อถูกดึงดูดด้วยความสนุกสนานได้หรือไม่?
ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ 66 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ต้องขึ้นลงทางนั้น เลือกใช้บันไดแทนการขึ้นบันไดเลื่อน แถมพวกเขายังมีความสุขกับการได้ขึ้นบันไดอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าความสนุกสนานสามารถเปลี่ยนแปลงคนได้จริงๆ
2. The Smoky Room Experiment
การทดลองนี้กำหนดให้คนที่เข้าไปทำแบบสอบถามอยู่ในห้องที่มีควันลอยออกมาเต็มไปหมดและจะสังเกตดูว่าผู้เข้ารับการทดลองมีท่าทีอย่างไรบ้าง
ทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ คนกลุ่มแรกต้องเข้าไปนั่งในห้องคนเดียว กลุ่มสองต้องเข้าไปนั่งในห้องพร้อมกัน 3 คน และกลุ่มที่สามเข้าไปคนเดียวแต่จะมีหน้าม้าเข้าไปด้วยอีก 2 คน ซึ่งทั้งสองทำเป็นไม่สนใจกับควันภายในห้อง
ผลลัพธ์ออกมาว่าคนกลุ่มแรกจำนวน 75 เปอร์เซ็นต์ออกมาแจ้งเรื่องควันให้ผู้ทดลองทราบ กลุ่มที่สองมีอยู่ 40 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มสุดท้ายมีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราใช้การแสดงออกของคนรอบข้างมาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกของพฤติกรรมตัวเอง
เมื่อมีอะไรซักอย่างเกิดขึ้นแต่ไม่มีใครตอบสนองกับสิ่งๆ นั้น เราจึงคิดเหมือนคนอื่นๆ ว่าก็ไม่จำเป็นต้องตอบสนองเช่นเดียวกัน แตกต่างกับการอยู่คนเดียวที่ทำให้เราตัดสินใจแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งๆ หนึ่งได้มากกว่า
3. The Asch Conformity Experiment
การทดลองนี้มีขึ้นช่วงปี 1950s เพื่อศึกษาแนวโน้มของคนในการปฏิบัติตามคนส่วนใหญ่ในสังคม ให้ผู้รับการทดลองเข้าไปอยู่ร่วมกันกับหน้าม้าอีกหลายๆ คนเพื่อตอบคำถามง่ายๆ ผ่านจอมอนิเตอร์ โดยต้องตอบทีละคน
เริ่มตั้งแต่หน้าม้าคนแรกไล่ไปทีละคนจนถึงผู้เข้ารับการทดสอบที่นั่งอยู่เป็นคนสุดท้าย แต่ละคำถามหน้าม้าหลายๆ คนถูกกำหนดให้เลือกคำตอบที่ผิด จนกระทั่งข้อคำถามหลังๆ หน้าม้าทุกคนเลือกคำตอบที่ผิด เพื่อดูว่าผู้รับการทดลองเลือกตามคนส่วนใหญ่หรือว่าจะเลือกคำตอบที่ถูกกันแน่
ผลลัพธ์ออกมาว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะตอบข้อที่ผิดเพื่อให้เหมือนกับคนอื่นๆ มากกว่าการตอบข้อถูก แสดงให้เห็นว่าคนในสังคมเลือกที่จะคล้อยตามคนส่วนใหญ่แม้จะมีความคิดเป็นของตัวเองก็ตาม
4. The Halo Effect Experiment
การทดลองนี้มีขึ้นในปี 1920 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการตีความคนอื่นๆ จากประสบการณ์ของตัวเองหรือที่เรียกว่า Halo Effect โดยนักจิตวิทยาจะบอกผู้บังคับบัญชาในกองทัพให้ลงคะแนนผู้ใต้บังคับบัญชาตามลักษณะเฉพาะบางประการอย่างเช่นคนคนนั้นมีความฉลาดมากน้อยเพียงใด และสังเกตดูว่าเขาให้คะแนนทหารเหล่านั้นด้วยเหตุผลอะไร
ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนเราเป็นไปตามสิ่งที่เรียกว่า Halo Effect โดยไม่รู้ตัวและมักจะให้คำนิยามกับสิ่งๆ หนึ่งและโยงไปให้กับทุกคน เช่นเราเชื่อว่าคนหน้าตาดี จะต้องเป็นคนนิสัยดี ฉลาด เฮฮา หลังจากนั้นเราก็จะมองว่าคนหน้าตาดีเป็นอย่างนั้นทุกคน ซึ่งความเป็นจริงแล้วคนหน้าตาดีไม่จำเป็นต้องนิสัยดีเสมอไป
5. False Consensus Experiment
เป็นการทดลองที่ยื่นข้อเสนอให้นักศึกษาห้อยป้ายที่เขียนว่า “Eat at Joe’s” เดินไปรอบๆ สถานศึกษา จากนั้นจึงถามพวกเขาว่าในความคิดของพวกเขาคิดว่าคนอื่นๆ จะยอมห้อยป้าย ทำอะไรแบบนี้กันมั้ย? คำตอบที่ได้คือเด็กที่ยอมรับข้อเสนอก็คิดว่าคนอื่นจะยอมรับด้วยเหมือนกัน ส่วนคนที่ปฏิเสธก็คิดว่าคนส่วนใหญ่จะปฏิเสธเหมือนตัวเอง
จากคำตอบของพวกเขาสามารถพิสูจน์สิ่งที่เรียกว่า False Consensus Effect ได้ นั่นคือมนุษย์เราเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำหรือพฤติกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมก็ทำเหมือนๆ กัน เพื่อยืนยันว่าตัวเราเองเป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้นจริงๆ
6. The “Violinist in the Metro” Experiment
ในปี 2007 การทดลองนี้ Josh Bell นักไวโอลินชื่อดัง ผู้มีรายได้มากกว่า 115 ล้านบาท เขารับบทเป็นนักดนตรีข้างถนน ยืนสีไวโอลินอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วงที่คนกำลังพลุกพล่าน เพื่อให้ผู้ทดลองได้สังเกตท่าทีของคนที่เดินผ่านไปมาในบริเวณนั้น
แม้ว่ามีคนเดินผ่านอยู่ตลอดแต่กลับไม่มีใครหยุดฟังเขาเลย นอกจากเด็กเพียงคนเดียว!?
จากผลลัพธ์นั้นสามารถตีความได้ว่ามนุษย์เรามักเข้าใจความสวยงามของโลกจากความเข้าใจในสิ่งที่มันควรจะเป็นมากกว่าความสวยงามที่แท้จริงรอบๆ ตัว อย่างเช่นเราคิดว่าดนตรีในคอนเสิร์ตฮอลล์มีความไพเราะไม่เหมือนกับดนตรีตามข้างถนน ทำให้พวกเขาไม่ได้คิดจะหยุดฟังนักดนตรีหนุ่มคนนี้เลย
7. The Marshmallow Test Experiment
นี่คือการทดลองในช่วงปลาย 1960s และ 1970s เพื่อหาความเชื่อมโยงว่าการยับยั้งชั่งใจมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในชีวิตหรือไม่
วิธีการทดลองคือให้เด็กวัย 4 – 6 ขวบนั่งอยู่ในห้องที่มีมาร์ชเมลโล่วางอยู่บนโต๊ะ 1 ชิ้น จากนั้นผู้ควบคุมก็บอกกับเด็กว่า ถ้าพวกเขาสามารถรอโดยไม่กินขนมหวานชิ้นนั้นได้ 15 นาที พวกเขาก็จะได้รับมาร์ชเมลโล่อีก 1 ชิ้น ทำให้สามารถแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่มได้คือเด็กที่รอไหวกับรอไม่ไหว
หลังจากนั้นพอผ่านไปหลายปี ผู้ทดลองได้ตรวจสอบข้อมูลจากเด็กชุดเดิมพบว่า เด็กที่รอจนครบตามเวลาได้นั้นสามารถทำคะแนนในการเรียนได้มากกว่า มีระดับการศึกษาที่สูงกว่า หรือมีอาชีพที่ดีกว่าเด็กที่ตัดสินใจกินชิ้นแรกทันที
นั่นจึงแสดงให้เห็นว่าการยับยั้งชั่งใจเพื่อความสุขที่มากกว่ามีความสัมพันธ์ และเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ทักษะต่างๆ เพื่อชีวิตที่ดีของตัวเอง
8. The Little Albert Experiment
การทดลองนี้เกิดขึ้นในช่วงยุค 1920s เพื่อศึกษาว่ามนุษย์สามารถถูกวางเงื่อนไขให้กลัวสิ่งต่างๆ ได้หรือไม่
วิถีคือให้ผู้ทดลองนำหนูตัวสีขาวน่ารักมาวางไว้ต่อหน้าเด็กน้อย Albert เมื่อเด็กเห็นหนูปุ๊ปผู้ทดลองจะทำเสียงดังๆ ขึ้นมาเพื่อให้เด็กตกใจกลัว หลังจากนั้นเมื่อไหร่ที่เด็กเห็นหนูก็จะรู้สึกกลัวขึ้นมาเองแม้ไม่มีเสียงดังเกิดขึ้นก็ตาม แสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถถูกกำหนดให้กลัวสิ่งใดก็ได้ทุกอย่างเลยจริงๆ
โดยการทดลองดังกล่าวนับว่าผิดจรรยาบรรณและคุกคามเด็กอย่างมากในปัจจุบัน ดังนั้นก็ไม่ควรเอาวิธีนี้ไปใช้กับคนอื่นหรอกนะ
9. The 1939 Monster Study
นี่คืออีกหนึ่งการทดลองที่คุกคามเด็กอย่างมาก เมื่อนักวิจัยในรัฐไอโอวา ประเทศสหรัฐอเมริกา อยากทราบว่าตนเองจะสามารถรักษาอาการพูดติดอ่างของเด็กกำพร้าได้หรือไม่
เขาจึงทำการแบ่งเด็กกำพร้าที่พูดติดอ่างออกเป็นสองกลุุ่ม กลุ่มแรกเขามอบความรักและให้กำลังใจเด็กติดอ่างเหล่านั้น ส่วนกลุ่มที่สองเขาต่อว่า ด่าทอ และเยาะเย้ยกับอาการติดอ่างที่เด็กเป็น
ผลสรุปออกมาว่าเด็กกลุ่มแรกมีการพัฒนาจนทำให้พูดติดอ่างได้น้อยลง ในขณะเดียวกันกลุ่มที่สองกลับพูดติดอ่างมากขึ้น ไม่มีการพัฒนาใดๆ เลย ทำให้พอเข้าใจได้แล้วว่าวิธีการแบบไหนที่ช่วยเยียวยาสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่ากัน
10. The Milgram Experiment
การทดลองอันมีชื่อเสียงของ Stanley Milgram ในมหาวิทยาลัย Yale ปี 1961 เพื่อศึกษาว่าถ้าหากมนุษย์ถูกสั่งโดยผู้มีอำนาจให้ทำในเรื่องที่ขัดกับศีลธรรมของตัวเอง พวกเขาจะยังคงยอมทำตามมากขนาดไหน
การทดลองจึงกำหนดให้ผู้เข้ารับการทดลองรับบทเป็นคุณครู และมีหน้าม้ารับบทเป็นนักเรียน จากนั้นเมื่อนักเรียนตอบผิด คนที่เป็นคุณครูต้องลงโทษพวกเขาตามกฎ โดยการกดปุ่มให้ไฟฟ้าช็อตใส่และเพิ่มความแรงขึ้นเรื่อยๆ (แต่ไม่ได้ถูกช็อตจริงๆ หรอกนะ แค่แอคติ้งเอาเฉยๆ)
จากการสังเกตพบว่าผู้เข้ารับการทดลองเลือกที่จะกดปุ่มลงโทษไปเรื่อยๆ แม้เห็นว่านักเรียนต้องเจอกับความเจ็บปวดมากขึ้นก็ตาม แสดงให้เห็นว่าคนเราเมื่อถูกสั่งจากผู้มีอำนาจก็จะยอมทำตามคำสั่งนั้นไป โดยไม่สนเรื่องความถูกต้องหรือผิดชอบชั่วดีที่ตนเองมี
11. The Robbers Cave Experiment
การทดลองนี้เกิดขึ้นในสวนสาธารณะ Robbers Cave รัฐโอคลาโฮมา เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความเกลียดชังที่มีในตัวมนุษย์ โดยผู้ทดลองแบ่งเด็กวัย 11 – 12 ปีออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 11 คน
ในสัปดาห์แรกเด็กๆ ได้ทำความรู้จักและสนิทสนมกับคนภายในกลุ่มของตัวเองเท่านั้น ต่อมาสัปดาห์ที่ 2 ทั้งสองกลุ่มที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนต้องมาแข่งขันกันเพื่อรางวัลที่ผู้ทดลองกำหนดไว้ให้
หลังจากนั้นทั้งสองกลุ่มก็เริ่มไม่ลงรอยกันจนเกิดความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายทั้งสองกลุ่มถูกกำหนดให้ทำงานร่วมกัน แต่ความเกลียดชังที่มีมาก่อนหน้านี้ก็ทำให้เกิดการทะเลาะกันและแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน
แสดงให้เห็นว่าความเกลียดชังของมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่ถูกสั่งสอน ถูกปลูกฝัง หรือถูกกำหนดจากสถานการณ์หรือบุคคลอื่นๆ ที่อยู่รอบตัว
12. The Missing Child Test
การทดลองนี้มีชึ้นเพื่อสังเกตว่ามนุษย์เราให้ความสนใจกับสิ่งรอบข้างที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเองมากน้อยเพียงใด โดยผู้ทดลองได้นำใบปลิวประกาศตามหาเด็กหายที่มีรายละเอียดและรูปใบหน้าอย่างชัดเจนติดเอาไว้ตรงประตูร้านขายของที่มีลูกค้าเป็นจำนวนมาก
จากการสังเกตพบว่าไม่มีใครหยุดสนใจใบประกาศนั้นเลยแม้แต่น้อย และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือเด็กในใบประกาศก็เดินอยู่ในร้านกับพวกเขาแท้ๆ แต่ก็ไม่มีใครคิดจะหยุดคุยหรือถามเธอด้วยความเป็นห่วงใดเลยซักนิด
ผลลัพธ์อันน่าเศร้านี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สนใจแต่เรื่องของตัวเองหรือสิ่งที่กระทบกับตัวเราเท่านั้น สิ่งอื่นรอบตัวจึงถูกมองข้ามไปโดยปริยาย
13. The Stanford Prison Experiment
นับเป็นหนึ่งในการทดลองทางจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงมาก นักวิจัยต้องการศึกษาว่าบทบาทและพลังอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ได้มากขนาดไหน
การทดลองนี้นักศึกษาจำนวน 24 คนในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย จะถูกสุุ่มว่าต้องรับบทเป็นผู้คุมหรือนักโทษ ซึ่งทั้งสองบทบาทนั้นจะมีการเปลี่ยนไปมาทุกวันเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์
หลังจากนั้นพฤติกรรมของพวกเขาก็ได้เปลี่ยนไปตามบทบาทที่ได้รับ คนที่เป็นผู้คุมเริ่มทำร้ายนักโทษ แม้ว่าจะเป็นเพื่อนกันมาก่อนก็ตาม ส่วนนักโทษเองก็มีความรู้สึกหดหู่และหวาดกลัวผู้คุม
ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าอำนาจและบทบาทที่เราถูกกำหนดให้เป็นในสังคมสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเราไปได้
โดยการทดลองนี้ได้ถูกยกเลิกหลังจากผ่านไป 6 วัน เนื่องจากผิดจรรยาบรรณและนักศึกษาเกือบทุกคนต้องเจอกับปัญหาในเรื่องของสภาวะจิตใจ
ในปัจจุบันได้มีการหยิบเอาเรื่องนี้มาสร้างเป็นหนังที่มีชื่อว่า The Stanford Prison Experiment
ที่มา: thechive
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.