ตำนานของ Jim Thorpe ผู้พิชิต 2 เหรียญทองโอลิมปิกปี 1912 ด้วยรองเท้าที่คุ้ยมาจากถังขยะ

หลายคนมีความคิดว่าการที่เรามีอุปกรณ์กีฬาที่ดีก็จะทำให้เราสามารถเล่นกีฬานั้นๆ ได้ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วมันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวเสมอไป เพราะอย่างชายคนนี้ที่ใช้เพียงแค่รองเท้ากีฬาที่เก็บได้จากถังขยะก็ยังทำให้เขาได้ถึง 2 เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเลย!!

ชายคนนั้นมีชื่อว่า Jim Thorpe หนุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันที่เกิดในปี 1887 และได้สร้างผลงานเอาไว้ในการแข่งขันกรีฑาในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกประจำปี 1912 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยเขาสามารถคว้าเหรียญทองกลับมาได้ถึง 2 เหรียญด้วยรองเท้าที่เก็บได้จากถังขยะ

 

Jim Thorpe ผู้คว้า 2 เหรียญทองด้วยรองเท้าที่เก็บมาจากถังขยะ

 

Jim มีพี่ชายฝาแฝดอยู่หนึ่งคน แต่ก็ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนอายุเพียง 9 ขวบ ต่อมาอีกไม่กี่ปีแม่และพ่อของเขาก็ได้จากโลกนี้ตามพี่เขาไป ทำให้เขาต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่นั้นมา

แต่เขาก็ไม่ได้ย่อท้อกับชีวิต จนเมื่อเวลาผ่านไปเขาก็ได้เข้าร่วมการทดสอบคัดตัวนักกรีฑาตัวแทนสหรัฐอเมริกาที่ต้องไปแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกปี 1912 ด้วยศักยภาพความสามารถทางด้านกีฬาของเขาทำให้สามารถติดเป็นหนึ่งในทีม Pentathlon (หรือ ปัญจกรีฑา) ได้ไม่ยาก

อีกทั้งยังถูกเลือกให้ลงการแข่งขันประเภท Decathlon (หรือ ทศกรีฑา) เพิ่มเข้าไปอีก แต่ถึงแม้เขาจะต้องลงแข่งหลายรายการขนาดไหนก็ไม่น่ากังวลเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนวันแข่ง เพราะรองเท้าของเขาถูกขโมยไปในวันนั้น

แน่นอนว่ารองเท้าคือสิ่งสำคัญสำหรับนักกรีฑาอย่างมาก แต่ด้วยเวลาที่มีจำกัดเขาได้ตัดสินใจใช้รองเท้าที่เก็บมาได้จากถังขยะ โดยรองเท้าทั้งสองข้างนั้นไม่ได้มาจากที่เดียวกัน ขนาดของรองเท้าจึงต่างกันทำให้เท้าข้างหนึ่งของเขาต้องใส่ถุงเท้าหลายๆ ชั้นเพื่อเพิ่มความหนาไม่ให้รองเท้าหลุดออกมาระหว่างแข่ง

 

 

ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องรองเท้าก็ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับชายคนนี้ เพราะในการแข่งประเภท Pentathlon เขาสามารถชนะไปได้ถึง 4 จาก 5 รายการ โดยได้ที่สองแค่ชนิดกีฬาพุ่งแหลนซึ่งเป็นกีฬาที่เขาไม่เคยเล่นมาก่อน

ส่วนการแข่งขันประเภท Decathlon ก็สามารถชนะไปได้อีก 4 รายการได้แก่ ทุ่มน้ำหนัก กระโดดสูง วิ่งกระโดดข้ามรั้วระยะ 110 เมตร และวิ่ง 1,500 เมตร ส่วนที่เหลือนั้นเขาได้อันดับสามไป 4 รายการ และอันดับ 4 อีก 2 รายการ รวมทั้งหมดแล้วเขาสามารถกวาดเหรียญทองไปได้ถึง 2 เหรียญ เรียกว่าเป็นสถิติที่ยอดเยี่ยมมากจริงๆ

ผลงานที่น่าประทับใจนี้ทำให้เขาได้รับคำชมจาก กษัตริย์กุสตาฟที่ 5 แห่งสวีเดน พระองค์ทรงกล่าวกับเขาว่า “เจ้าคือนักกรีฑาที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก” ซึ่งถ้าดูจากสิ่งที่เขาทำก็สมควรได้รับคำชมนี้จริงๆ

 

 

แต่ภายหลังความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ Thorpe ก็ต้องถูกยึดเหรียญรางวัลคืนทั้งหมด เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกสากลพบว่าชายคนนี้ได้เป็นนักกีฬาอาชีพให้กับทีมเบสบอลในลีกล่างไม่ใช่ลีกบน แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นเพียงแค่นักกีฬาระดับสมัครเล่นเท่านั้น ซึ่งผิดกับกฎระเบียบที่ถูกตั้งเอาไว้

นอกจากเขาต้องคืนเหรียญให้กับทางสมาคมแล้ว ผลงานของเขาก็ไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในประวัติการได้รับเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกอีกด้วย จนทำให้คนรุ่นต่อๆ มาไม่ค่อยมีใครรู้จักเขาคนนี้

 

 

แม้ว่าเขาต้องเสียเหรียญทองไปแต่ก็ไม่ได้ทิ้งพรสวรรค์ทางด้านกีฬาไป ในปี 1913 เขาได้เล่นเบสบอลให้กับทีมชื่อดังอย่าง NY Giants ในการแข่งขัน National League Championship และได้เล่นเป็นนักกีฬาอาชีพต่อจากนั้นมาจนถึงปี 1922 และได้ทิ้งสถิติค่าเฉลี่ยการตีเอาไว้สูงถึง .327 ในการแข่งขันฤดูกาลสุดท้าย

และระหว่างนั้นในปี 1916 , 1917 และ 1919 เขาก็ได้พาทีม Canton Bulldogs ขึ้นเป็นแชมป์ในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลอาชีพได้สำเร็จ ซึ่งภายหลังทีมนี้ก็ได้เลื่อนชั้นขึ้นไปอยู่ใน National Football League (หรือ NFL)

ไม่ใช่เพียงแค่นั้นเพราะเขาได้เล่นอาชีพให้กับทีมบาสเก็ตบอลของกลุ่มชนพื้นเมืองในอเมริกาเมื่อปี 1926 อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นคนที่รักในการเล่นกีฬามากจริงๆ

 

 

เขาได้เสียชีวิตลงในปี 1953 ด้วยวัย 65 ปี และถึงแม้ว่าเขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ตำนานของเขาก็ได้ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อในปี 1982 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลตัดสินใจคืนเหรียญทองให้กับเขา ทำให้ตำนานอันน่าจดจำของเขาได้ถูกจารึกเอาไว้ในที่สุด

แต่เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเหรียญทองทั้ง 2 เหรียญนั้นได้ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์อย่างไร้ร่องรอยและไม่มีการนำกลับมาคืนแต่อย่างใด ถึงอย่างไรก็ตามเรื่องราวของชายคนนี้ก็จะยังคงติดตรึงใจของพวกเราทุกคนไปอีกนานแสนนาน

 

อนุสรณ์ที่มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมคนนี้ ตั้งอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย

 

ในการแข่งขันโอลิมปิกของเขาคนนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าอุปกรณ์ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นนักกีฬา แต่กำลังใจที่ไม่ย่อท้อต่างหากที่สามารถทำให้เขาเป็นนักกีฬาในตำนานมาได้จนถึงทุกวันนี้

 

ที่มา: medium , wikipedia

Comments

Leave a Reply