ตามชนบทนั้นมักจะมีความเชื่อหรือวัฒนธรรมโบราณที่สืบทอดกันหลายชั่วอายุคน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลง บางวัฒนธรรมก็ค่อยๆ เลือนหายไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีหลายวัฒนธรรมที่ยังคงได้รับการปฏิบัติและสืบทอดอย่างเคร่งครัด หนึ่งนั้นคือวัฒนธรรมตัดข้อนิ้วมือของคนชนเผ่า Dani ในประเทศอินโดนีเซีย
ชนเผ่า Dani อยู่ในหมู่บ้าน Baliem Valley ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลของประเทศอินโดนีเซีย ถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อปี 1938
จากการค้นพบในครั้งนั้น ทำให้หมู่บ้านดังกล่าวได้รับความสนใจจากคนภายนอกจนถึงปัจจุบันนี้ หนึ่งในนั้นคือช่างภาพที่ชื่อว่านาย Markus Roth ที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับพวกเขานานถึงหนึ่งสัปดาห์
ตลอดระยะเวลาที่ได้อยู่กับชนเผ่า Dani ช่างภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารของพวกเขา ทักษะชีวิตพื้นฐาน และพิธีกรรมต่างๆ
นอกจากนี้ Markus ยังได้เห็น Pig festival ซึ่งเป็นเทศกาลที่ชาวบ้านจะทำการฆ่าสัตว์พร้อมนำเสนอให้ทุกคนเห็นอย่างภาคภูมิใจ
Markus จาก Pulheim ประเทศเยอรมนี กล่าวว่าหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจของชนเผ่า Dani คือมัมมี่ของ Kurulu ซึ่งมีอายุอย่างต่ำ 370 ปี
“มันเป็นศพมัมมี่ของนักรบที่ประสบความสำเร็จและน่าเกรงกลัว ซึ่งถูกเก็บไว้ในบ้านของผู้ชายในหมู่บ้าน และจะเอาออกมาให้ผู้มาเยือนดูอย่างภาคภูมิใจ” ช่างภาพกล่าว
ชาวบ้านบอกกับเขาว่า “ทุกครั้งที่นักรบฆ่าเหยื่อได้ เขาจะสวมสร้อยคอเพิ่มมา 1 เส้น นั่นหมายความยิ่งนักรบสวมสร้อยคอมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นคนที่น่ากลัวมากเท่านั้น และเมื่อเขาตายไป ชนเผ่า Danis จะเก็บรักษาศพเขาไว้เป็นมัมมี่”
ตามสื่อเล่าว่าชนเผ่า Dani ถูกค้นพบอย่างบังเอิญโดยนักสัตววิทยาชาวอเมริกัน Richard Archbold เมื่อปี 1938 ในระหว่างที่เดินทางไปยังที่ราบสูงของ West Papua (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย)
หากสังเกตในภาพด้านบนจะเห็นว่านิ้วมือของผู้หญิงจะไม่มีข้อนิ้วส่วนบน ยกเว้นนิ้วโป้ง นั่นเป็นเพราะตามประเพณีของชนเผ่าแล้ว ผู้หญิงจะต้องตัดข้อนิ้วด้านบนออก เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต
ภาพซ้ายคือศพของนักรบในอดีต ส่วนภาพขวาคือนักรบปัจจุบันพร้อมอาวุธของพวกเขา
การตัดข้อนิ้วดังกล่าวนี้เป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกเจ็บปวดจากการสูญเสีย และเพื่อเป็นการระลึกถึงบุคคลที่ล่วงลับไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ประเพณีดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย ดังนั้นจึงพบผู้หญิงที่ไม่มีข้อนิ้วส่วนบนแค่ในผู้ที่มีอายุมากแล้วเท่านั้น เพราะพวกเขาทำก่อนที่จะมีกฎหมายออกมา
ทุกเดือนสิงหาคมของทุกปี ชนเผ่า Dani จะมีการจัดการต่อสู่จำลองกับชนเผ่าอ่ื่นที่อยู่ใกล้เคียง เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่เชื่อกันว่าจะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับหมู่บ้าน
ในส่วนของการแต่งกายของชายชาว Dani นั้นจะแตกต่างกันไป แต่หลักๆ แล้วจะมีการเพ้นท์หน้า ประดับขนนก กระดูกของสัตว์ที่ล่ามาได้ และกระบอกที่ปิดอวัยวะเพศที่เรียกว่า Koteka
ช่างภาพบอกว่าด้วยการแต่งกายเช่นนี้ อาจทำให้พวกเขาดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้ว พวกเขาเป็นมิตรมากและสุภาพกับทุกคนที่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นมิตร
ส่วนผู้หญิงจะสวมกระโปรงที่ทอมาจากเส้นใยของกล้วยไม้ ประดับประดาด้วยฟาง คลุมมาตั้งแต่ศีรษะ บางส่วนของหลัง และเรียวขาลงไป เรียกว่า Noken
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ชนเผ่าจะมีเทศกาล Pig festival เพ่ื่อเป็นการต้อนรับ Markus โดยการฆ่าหมูที่มีราคาแพงและเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในหมู่บ้าน
ในงานนี้ ผู้นำหมู่บ้านจะเป็นคนแนะนำว่าต้องฆ่าหมู่กี่ตัว จากนั้นก็จะทำการสังหารหมูด้วยไม้ไผ่ที่เหลาไว้อย่างคมกริบ ก่อนจะนำไปปรุงสุกในหลุมหินที่มีความร้อนสูง
Markus บอกว่า “ชนเผ่า Dani มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามที่จะต่อต้านความทันสมัยทุกอย่างที่คนภายนอกหยิบยื่นให้ นั่นทำให้พวกเขามีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นมิตร”
พวกเขาจะปลูกพืชทุกอย่างที่คิดว่าจำเป็นสำหรับพวกเขา หากบางอย่างที่ไม่มีก็จะเอาไปแลกเปลี่ยนกับชนเผ่าอื่นที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง
ทั้งหมดนี้คือเรื่องเล่าจากช่างภาพที่ได้มีโอกาสไปอยู่กับชนเผ่า Dani เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามาก เพราะเขาได้เรียนรู้หลายสิ่งจากพวกเขา
แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นดี เพราะแม้ชนเผ่า Dani จะอยู่ห่างจากเมืองหลวงของอินโดนีเซียถึง 3,500 กิโลเมตร แต่พวกเขาก็ยังถูกคุกคามโดยคนจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมือง การท่องเที่ยว และด้านวัฒนธรรม
ที่มา dailymail
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.