เปิดโลกใต้พื้นผิวน้ำแข็ง กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำงานอะไร สิ่งที่คุณทำอยู่มักจะทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อ เมื่อเทียบกับนักวิจัยที่ต้องดำน้ำลงไปสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลแอนตาร์กติกา เพราะที่นั่นทำให้พวกเขาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแบบที่ไม่ซ้ำกันเลย

นักวิทยาศาสตร์จากนิวซีแลนด์และฟินแลนด์ ที่เรียกตัวเองว่า Science Under the Ice ได้ออกสำรวจระบบนิเวศใต้ทะเลแอนตาร์กติกาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

การจะทำเช่นนั้นได้ พวกเขาต้องไปยังที่ที่สามารถสำรวจระบบนิเวศได้อย่างทั่วถึงรอบด้าน นั่นคือใต้พื้นผิวน้ำแข็ง Ross Ice Shelf ของแอนตาร์กติกา

 

 

ย้อนกลับในปี 2009 พวกเขาเคยมาสำรวจปะการังที่ Ross Ice Shelf แล้ว ต่อมาปี 2017 ก็พบว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

Joanna Norkko หนึ่งในสมาชิกของทีมสำรวจบอกว่า “การค้นพบที่น่าสนใจที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศใต้ทะเลแอนตาร์กติกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึง”

“นอกจากนี้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะสายพันธุ์และความหนาแน่นของสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

 

 

การสำรวจแค่วันสองวัน สามารถทำให้เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ นักวิจัยจึงต้องใช้เวลากว่า 6 สัปดาห์ในการดำน้ำสำรวจบริเวณ New Harbour และ Cape Evans โดยเก็บตัวอย่างตะกอน ตัวอย่างน้ำ ตัวอย่างเนื้อเยื่อ และทำการบันทึกวิดีโอที่ก้นทะเล

วิธีการทำงานดังกล่าวจะทำให้นักวิจัยรู้ว่ามีสัตว์กี่ชนิดที่อาศัยอยู่ที่ก้นทะเล และเพื่อที่จะประเมินได้ว่าพวกมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้พวกเขายังทำตู้ขนาด 50×50 เซนติเมตร บนพื้นทะเล สำหรับศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลกับการหมุนเวียนของสารอาหาร

ตัวอย่างทุกชิ้นที่พวกเขาเก็บจากใต้ทะเลนั้น ถูกนำกลับไปสำรวจที่ห้องทดลองในนิวซีแลนด์และฟินแลนด์ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะรู้ผล ทั้งยังผ่านการวิเคราะห์อีก ดังนั้นอาจจะยาวนานถึงปีกว่าจะเผยแพร่ข้อมูลได้

 

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่พวกเขาเห็น โดยอ้างอิงจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา น้ำแข็งในทะเลในบริเวณ Ross Ice Shelf ได้บางลงอย่างมาก

นั่นทำให้แสงสามารถผ่านทะลุไปยังใต้ทะเลความลึก 15-20 เมตร ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่เป็นส่วนล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร

ทั้งนี้ พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า หากพืชและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลตอบสนองต่อแสง อาจส่งผลให้มีอาหารในระบบนิเวศเพิ่มมากขึ้นด้วย แม้ประชากรสัตว์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลา 2 ปีติดต่อกันก็ตาม

 

 

ที่ New Harbour แผ่นน้ำแข็งสามารถอยู่ได้เป็นเวลาหลายปีโดยไม่ถูกทำลาย และสามารถหนาขึ้นได้อีกถึง 4.5 เมตร แต่ขณะนี้มันมีความหนาอยู่ที่ 3 เมตร

ส่วนสาเหตุของการขยายตัวของน้ำแข็งในช่วงที่ผ่านมานั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่แนวโน้มล่าสุดพบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลต่อการละลายของแผ่นน้ำแข็งในช่วงสิบปีหรือร้อยปีข้างหน้าด้วย

นักวิจัยบอกว่าการเจาะแผ่นน้ำแข็งเป็นครั้งคราวเพื่อสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจว่าระบบนิเวศใต้ทะเลจะตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนอย่างไร

 

 

Norkko เน้นย้ำว่า การที่แผ่นน้ำแข็งบริเวณ New Harbour บางลงจนทำให้ระบบนิเวศกลับมาอุดมสมบูรณ์นั้น ไม่ได้แปลว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะดีต่อระบบนิเวศทางทะเลในแอนตาร์กติก

แต่มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศทางทะเลจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแผ่นน้ำแข็งและการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตข้างหน้า” Norkko กล่าว

 

 

สำหรับการสำรวจบริเวณ New Harbor และ Cape Evans นั้น ทาง Science Under the Ice ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2001 โดยทุกครั้งที่ลงไปสำรวจ นักวิทยาศาสตร์จะเก็บตัวอย่างประชากรทางทะเลขึ้นมาด้วย เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 12 แล้วที่พวกเขาลงไปสำรวจใต้น้ำ โดย Norkko บอกว่า “การดำน้ำในแอนตาร์กติกาเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก เพราะน้ำใสจนคุณสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน”

“เหนือผิวน้ำแข็งจะมีเกล็ดหิมะบางๆ มีเพนกวิน และแมวน้ำบางส่วน ในขณะที่ใต้แผ่นน้ำแข็งจะเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่งดงามอย่างน่าทึ่ง”

 

 

ในแต่ละวันนักวิจัยสองคนจะดำน้ำลงในช่วงเช้าประมาณ 45 นาที และอีกสองคนจะดำลงไปในช่วงบ่าย โดยใช้เวลาเท่ากับหรือใกล้เคียงกัน

ในช่วงที่นักวิจัยสองคนลงไปใต้น้ำนั้น คนที่เหลือก็จะคอยอยู่บนผิวน้ำ เพื่อคอยให้การช่วยเหลือในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ความท้าทายสำหรับการดำน้ำคือ อุณหภูมิของน้ำที่เย็นจัดและอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานได้หากไม่แต่งชุดที่เหมาะสม ดังนั้นนักวิจัยจึงต้องใส่ชุดที่มีความหนาพอสมควร

ที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งคือ อันตรายจากพวกแมวน้ำเพราะเวลาที่เห็นรูบนแผ่นน้ำแข็ง แมวน้ำก็มักจะเอาน้ำแข็งไปอุดไว้เสมอ นั่นอาจทำให้นักวิจัยว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำไม่ได้

 

 

ขณะนี้ทีม Science Under the Ice ได้ทำภารกิจประจำปี 2017 สำเร็จทั้งหมดแล้ว ทั้งภาคสนามและข้อมูลต่างๆ ตอนนี้อยู่ในช่วงเดินทางกลับนิวซีแลนด์

ส่วนภาพ วิดีโอ และข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาตลอดการทำภารกิจนี้ พวกเขาจะรายงานให้ทราบในภายหลัง ผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กของทีมวิจัย

Norkko เสริมว่า “เราอยากให้ทุกคนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศใต้ทะเลว่ามันยอดเยี่ยมและมหัศจรรย์แค่ไหน และแน่นอนว่าสำหรับเราแล้ว การได้ดำน้ำสำรวจท้องทะเลนั้นเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากๆ”

 

ที่มา earther

Comments

Leave a Reply