ไขความลับกับ “ความรู้สึก” ของสัตว์ต่างๆ ว่าพวกมันจะมีความรู้สึกและอารมณ์ใดกันบ้าง

ความรู้สึกของคนเรานั้นมีมากมายหลายอย่างทั้ง ดีใจ เสียใจ ภูมิใจ เศร้า เหงา และอีกหลายๆ อารมณ์ แต่เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าสัตว์ต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเราพวกมันมีความรู้สึกกันบ้างไหมนะ??

ใครหลายคนอาจจะคิดว่าสัตว์ต่างๆ ก็มีความรู้สึกเหมือนกันหากดูจาก บุคลิกที่แตกต่างกันของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการถกเถียงกันมาหลายทศวรรษด้วยคำถามที่ว่า กิริยาท่าทางต่างๆ ที่สัตว์แสดงออกมามันออกมาจากความรู้สึกภายในของมันใช่หรือไม่

 

ทดสอบเรื่องของแพะๆ

 

ในศตวรรษที่ 17 ได้มีนักปรัชญาชื่อว่า René Descartes ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นความรู้สึกของสัตว์ และได้ออกมายืนยันว่าสัตว์ทั้งหลายต่างไม่มีความรู้สึกอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกทางด้านกายภาพอย่างการเจ็บ การปวด หรือความรู้สึกภายในอย่าง ความเศร้าเสียใจ ดีใจ ความรู้สึกเช่นนี้จะมีแต่ในตัวมนุษย์เท่านั้น

แต่การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อเหล่านั้นเป็นความเชื่อที่ผิด โดยพวกเขาใช้แพะซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในการทดลอง การทดลองต่างๆ แสดงให้เห็นว่าแพะนั้นสามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างหลากหลายในสถานการณ์ที่กำหนดให้

วิธีการทดลองก็คือ นักวิจัยจะลองเรียกแพะเข้ามาใกล้ๆ และมันก็เข้ามาหานักวิจัยจริงๆ เพราะว่าพวกมันหวังว่าจะได้อาหารเหมือนที่เคยได้ แต่เมื่อไม่มีรางวัลให้แก่มันแล้ว มันก็ดูเศร้าๆ และผิดหวังเล็กน้อย

ซึ่งนอกจากการดูอารมณ์ของมันแล้ว นักวิจัยยังได้ศึกษาเรื่องภาษากายของแพะ การวัดอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อเปรียบเทียบกับอารมณ์ในตอนที่เรียกมันเข้ามาหา นอกจากนี้พวกเขายังใช้ความถี่ของเสียงในการวิเคราะห์ด้วย

 

การทดลองความรู้สึกของม้า

 

นอกจากแพะแล้ว ม้าก็เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มีอารมณ์หลากหลาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร เพราะว่าม้าเป็นสัตว์ที่ชอบเข้าสังคมอยู่แล้ว โดยพวกมันมักจะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับตัวอื่นๆ ในฝูง อีกทั้งมันยังเป็นสัตว์ที่ตอบสนองต่อภัยคุกคามได้เร็วที่สุดอีกชนิดหนึ่งอีกด้วย

การทดลองที่นักวิจัยทดสอบกับม้าก็คือ เมื่อม้าอยู่ในพื้นที่กว้างๆ พวกมันดูจะมีความหวาดกลัวต่อสิ่งใดๆ ที่เข้ามา น้อยกว่าตอนที่มันถูกผูกอยู่ในคอก นั่นจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าม้ามีความรู้สึกภายในอย่างน้อย 2 ความรู้สึกก็คือ ความเป็นกังวลและความกลัว

 

ปลาน้อยคอยรัก

 

แต่มีการทดลองหนึ่งที่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิจัยเป็นอย่างมาก การวิจัยนั้นก็คือการศึกษาบุคลิกของปลา ซึ่งเป็นสัตว์ที่ดูว่ามันอาจจะไม่มีอารมณ์ความรู้สึกใดๆ แสดงออกมาเลย

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปลานั้นสามารถเปลี่ยนบุคลิกและความรู้สึกได้ หากมันต้องเผชิญกับสถานการณ์บางอย่างเช่น การมีปรสิตเกาะที่ตัวมันอยู่ หรือการแหวกว่ายผ่านกระแสน้ำวนขณะที่อพยพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตของปลาเหล่านี้ได้

ซึ่งเหตุผลที่นักวิจัยต่างๆ ศึกษาพฤติกรรมของสัตว์เช่นนี้ก็เพราะว่าพวกเขาต้องการจะรู้ถึง อารมณ์ บุคลิก และพฤติกรรมของมันว่ามันมีความรู้สึกใดบ้าง เพื่อเตรียมการช่วยสัตว์ในวันข้างหน้าอย่างเช่น หากสัตว์ตัวใดที่มีความรู้สึกเจ็บก็อาจจะมียาชาสำหรับสัตว์ หากสัตว์ตัวใดมีความเครียดก็อาจหาวิธีลดความเครียด เป็นต้น

 

เห็นพวกมันมีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ก็อย่าไปรังแกพวกมันกันนะจ๊ะ

 

ที่มา: sciencealert

Comments

Leave a Reply