การพัฒนาเทคโนโลยีของมนุษย์เราได้มีความเจริญขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายอายุคนที่ผ่านมา โดยแรกเริ่มนั้นเริ่มจากการสร้างเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ ต่อมาก็มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ
และในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบไร้สายให้เราได้ใช้กัน แต่ว่าหากนั่นยังไม่พอ ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำพลาสติกให้สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งกระแสไฟฟ้าหรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใดเลยด้วย???
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาเปิดเผยว่าตอนนี้พวกเขาได้สร้างพลาสติกขึ้นมาชิ้นหนึ่งจากเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่สามารถควบคุมอุปกรณ์ไร้สายชนิดต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้วงจรไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงาน และภายในพลาสติกชิ้นนั้นก็มีเพียง สวิทช์สำหรับเปิดปิด เฟืองพลาสติกและเสาอากาศเพียงเท่านั้น
“เป้าหมายของเราคือ เราจะสร้างบางอย่างที่มาจากเครื่องพิมพ์สามมิติที่มีอยู่ตามบ้านทั่วไป และสิ่งสิ่นนั้นต้องสามารถส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วย”
“ความท้าทายของมันอยู่ที่ คุณจะทำอย่างไรให้เจ้าสิ่งนี้สามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณไวร์เลสได้โดยใช้เพียงพลาสติกอย่างเดียว ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน” Vikram Iyer วิศวกรไฟฟ้าหนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
ลองเอาไปทดสอบกับเครื่องวัดความเร็วลม และเครื่องวัดการไหลของน้ำ
สำหรับกลไกภายในพลาสติกชิ้นนี้ พวกเขาบอกว่าจะมีเส้นใยนำไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาจากพลาสติกและทองแดงเป็นตัวนำสัญญาณ โดยเราจะสามารถเปิดปิดมันได้ง่ายๆ แค่กดปุ่มเพียงเท่านั้น
โดยพวกเขาได้ทำการทดสอบพลาสติกชิ้นนี้ ด้วยการใช้วัดกับเครื่องวัดความเร็วลม ซึ่งผลออกมาปรากฏว่าเมื่อรอบของความเร็วลมมีสูงขึ้น เส้นใยต่างๆ ภายในอุปกรณ์ตัวนี้ก็จะทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากการที่มันสามารถส่งสัญญาณได้ถี่ขึ้น
และเมื่อนำไปทดสอบกับเครื่องวัดการไหลของน้ำ ก็ได้ผลเช่นเดียว นั่นจึงหมายความว่าเจ้าพลาสติกชิ้นนี้จะสามารถทำงานได้ดีขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ อย่างลมและน้ำแรงขึ้นนั่นเอง
คลิปการทดสอบและการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ
พลาสติกที่ว่าในตอนนี้ยังไม่ออกมาสู่ท้องตลาดเพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา แต่ในอนาคตเมื่อพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว ทางผู้พัฒนาบอกว่าอุปกรณ์นี้จะสามารถใช้สำหรับอุปกรณ์ในบ้านได้อย่างหลากหลาย
เพราะในตอนนี้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านต่างๆ ก็เริ่มมีระบบไวร์เลสในตัวแล้ว พลาสติกชิ้นนี้จึงเป็นอุปกรณ์ไร้สายแห่งโลกอนาคตเลยก็เป็นได้
เทคโนโลยีก้าวไปทุกวันจริงๆ
ที่มา: sciencealert
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.