เบื่อมั้ยกับปัญหาเวลามือถือตกแล้วหน้าจอแตก ทำให้ต้องเสียทั้งเงินและเวลาพามันไปเปลี่ยนที่ศูนย์หรือให้ร้านซ่อมให้ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ปัญหานั้นอาจหมดไปได้ ด้วยนวัตกรรมใหม่ “กระจกที่สามารถซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง”
ความสามารถนี้มีอยู่ในสสารที่ชื่อว่า Polyether Thiourea ซึ่งเป็นสสารแรกของโลกที่มีคุณสมบัติผสมระหว่างความแข็งแกร่งแบบกระจกและความสามารถในการฟื้นฟูตัวเอง
สสารชนิดใหม่ที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างรวดเร็ว
เจ้าสิ่งนี้ถูกพัฒนาโดยศาสตราจารย์ Takuzo Aida และผู้ช่วยของเขาที่เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาสามารถค้นพบเจ้าสิ่งนี้ได้ด้วยความบังเอิญ ในตอนที่กำลังพยายามคิดค้นกาวแบบใหม่กันอยู่
ความพิเศษของเจ้า Polyether Thiourea คือ เมื่อไหร่ที่มันแตกหักหรือแยกจากกัน เพียงแค่เราใช้มือดันส่วนที่แตกออกกลับเข้าไปให้มันอยู่ในสภาพเดิม ไม่กี่วินาทีทั้งสองส่วนนั้นจะติดกันเหมือนเดิม และปล่อยไว้ไม่กี่ชั่วโมงกระจกก็จะคืนตัวอย่างสมบูรณ์เรียบเนียน เพียงแต่จะทิ้งรอยแตกไว้ให้เห็นเท่านั้นเอง
แตกเป็นเสี่ยงๆ หรือหักออกมาเป็นสองส่วนก็สามารถซ่อมแซมได้
ในตอนแรกที่พวกเขาเจอความสามารถนี้ก็ยังคงตกใจกันอยู่ เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการฟื้นฟูตัวเองในวัตถุที่มีลักษณะเป็นของแข็ง แต่เมื่อพวกเขาทดสอบมันอีกครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้ยังคงเหมือนเดิม ทำให้สามารถยืนยันการค้นพบนี้ได้
ลองคิดดูว่าถ้าเรานำสสารตัวนี้มาใช้กับหน้าจอสมาร์ทโฟนของเรา พอจอแตกปุ๊บ เราก็แค่เก็บเศษกระจกมาดันติดกันเข้าไปใหม่เท่านั้นเอง ง่ายๆ สะดวกสบายเป็นยิ่งนัก
แต่น่าเสียดายที่มันยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้เห็นเป็นขีดตรงรอยเชื่อม ซึ่งเชื่อว่าหากแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้เมื่อไหร่แล้วล่ะก็ มันจะต้องได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมหลายๆ ประเภทอย่างแน่นอน
แค่นำมาประกบกันไม่กี่วินาที มันก็จะต่อกันแน่นเหมือนเดิมแล้ว
ถึงแม้มันอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ชาวเน็ตหลายๆ คนก็ยังคงทึ่งกับความสุดยอดในการฟื้นฟูตัวเองของเจ้าสิ่งนี้
“คุณพระ!? มหัศจรรย์สุดๆ ไปเลย”
“อยากให้สมาร์ทโฟนของพวกเราทำจากเจ้าสิ่งนี้จังเลย”
“หวังว่าในอนาคตรอยแตกจะหายไปด้วยนะ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว”
คลิปการแสดงความสามารถของเจ้าสสารชนิดนี้
ที่มา: rocketnews24 , nhk
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.