ทางการจีนเปิดตัว ‘วีซ่าชั้นสูง’ มุ่งเป้าผู้มีความสามารถเฉพาะทาง ใครเก่งก็เข้าประเทศง่าย!!

 

หลายๆ คนทราบดีว่าการขอวีซ่านั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากพอสมควร แต่มันคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเดินทางเข้าไปในหลายๆ ประเทศ แต่มาวันนี้ประเทศจีน ได้ดำเนินการนโยบายใหม่ เพื่อให้ชาวต่างชาติผู้มีความสามารถทั้งหลาย เดินทางเข้าประเทศของพวกเขาได้ง่ายยิ่งขึ้น

กระทรวงการบริหารงานด้านผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศของจีน พัฒนาระบบที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างแดนสามารถเข้ามาในประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

คำว่าผู้เชี่ยวชาญในที่นี้ก็คือ เหล่าผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในประเทศอื่นๆ หรือผู้มีความสามารถเฉพาะทางในเรื่องต่างๆ

 

 

ประเทศจีนนำระบบจัดอันดับรูปแบบใหม่ของแรงงานในต่างประเทศเมื่อปี 2016 เข้ามาช่วยตัดสินว่าใครคือผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถใช้ระบบดังกล่าวได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น ผู้ชนะรางวัลโนเบล ผู้วิจัยอาวุโส ผู้บริหารในสถาบันการเงิน นักวิทยาศาสตร์เจ้าของสุดยอดผลงาน หรือแม้แต่ดารากับนักกีฬาเองก็ด้วย

วิธีการขอวีซ่าเข้าประเทศจีนสำหรับคนเหล่านั้นก็ง่ายมากๆ เพียงแค่ยื่นเรื่องมาในระบบออนไลน์ หากได้รับอนุมัติปุ๊บ คุณก็จะได้รับวีซ่าเข้าประเทศที่มีอายุใช้งานได้ 5-10 ปี และสามารถอาศัยอยู่ได้นาน 180 วันต่อหนึ่งครั้งที่เดินทางมา ที่สำคัญคือการขอวีซ่าในรูปแบบนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว

 

วีซ่าของประเทศจีน

 

นโยบายใหม่นี้มีจุดประสงค์เพื่อให้คนเก่งหรือคนมีความสามารถจากต่างประเทศ ได้เข้ามาช่วยพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม และในอนาคตวิธีนี้ยังอาจช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนแรงงานด้านเทคโนโลยีหรือผู้วิจัยในสาขาต่างๆ ได้อีกด้วย

เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะสามารถดึงดูดใจผู้มีฝีมือจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2017 ประเทศจีนก็ได้สร้างนโยบายที่ทำให้คนที่เรียนจบปริญญาโทจากต่างแดน สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกันไปแล้ว แถมยังมีการขยายเวลาให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถอาศัยอยู่ในประเทศได้นานยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ยกตัวอย่าง Elon Musk กับ Mark Zuckerberg ที่นับว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และสามารถขอวีซ่าชนิดนี้ได้แบบสบายๆ

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าวีซ่าที่แสนสะดวกสบายนี้ก็มีขึ้นเพื่อผู้มีความสามารถในระดับสูงเท่านั้น ส่วนปุถุชนคนธรรมดาทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในหมวดดังกล่าว ก็ยังคงต้องขอวีซ่าในรูปแบบเดิมกันต่อไปล่ะนะ

 

ที่มา: medium

Comments

Leave a Reply