ตีแผ่เบื้องหลัง “ไอดอล” ผ่านสารคดี “โตเกียวไอดอล” ความมุ่งมั่น ความผิดหวัง การแข่งขันและเพศ

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีการปรากฏตัวของ BNK48 มันก็เริ่มทำให้นิยามของคำว่า “ไอดอล” ในบ้านเราค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละหน่อยๆ จากที่แต่ก่อนต้องน่ารัก เรียนเก่ง หรือเซ็กซี่เพียงอย่างเดียว ก็เริ่มมีมิติอื่นๆ เข้ามาด้วย ทั้งเรื่องของความพยายาม การแข่งขัน มิตรภาพ ความคิดความอ่าน ไหวพริบ เพราะยิ่งไอดอลมีคุณสมบัติเหล่านี้เยอะเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองมากขึ้น

 

 

และเพราะมันเริ่มมีการพูดถึงกลุ่มไอดอลอย่าง BNK48 บ่อยขึ้นๆ จนคนในบ้านเราเริ่มมองว่านี่มันคือกลุ่มอะไร? ทำไมถึงมีกฎเกณฑ์เยอะแยะ? ทำไมถึงมีผู้คนให้ความสนใจเยอะขนาดนี้? มันมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องหรือเปล่า? ไอ้ที่เกริ่นๆ มามันมีคำตอบหมดเลยในสารคดี “โตเกียวไอดอล” ที่#เหมียวฟิ้นเพิ่งดูไปใน Netflix ต่อไปนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาสำคัญบางช่วงบางตอนนะครับ

 

 

1. ในญี่ปุ่นมีคนที่เรียกตัวเองว่าไอดอลราวๆ หมื่นคน มีทั้งกรุ๊ปใหญ่ๆ แบบพวก AKB48, NMB48, SKE48 ไปจนถึงกลุ่มที่เล็กมากๆ ตามเมืองเล็กๆ หรือแม้แต่ไอดอลเดี่ยวๆ ที่มีกลุ่มคนไปดูไม่มากมายอะไรก็ยังมี

2. ในบรรดาไอดอลทั้งหลาย มีไม่น้อยเหมือนกันที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นไอดอล แต่มองว่านี่คือทางผ่านไปสู่อาชีพนักร้องหรือนางแบบ เลยเลือกที่จะใช้เวทีไอดอลเพื่อฝึกปรือฝีมือ

 

 

3. สาเหตุที่เหล่าโอตะ (แฟนคลับ) ของไอดอล (หรือที่เรียกว่าโอตะ-ที่มาจากคำว่าโอตาคุ) ให้ความสำคัญกับไอดอลมาก ส่วนหนึ่งมาจากความชื่นชอบ ส่วนหนึ่งอาจมาจากความผิดหวังในชีวิต ที่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านใดเลย พวกเขาจึงหันมาให้การสนับสนุนไอดอล เพราะมองว่านี่คือการทำบางสิ่งที่เป็นชิ้นเป็นอันที่ประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ อย่างหนึ่ง

4. สิ่งที่ทำให้โอตะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากๆ เวลาเชียร์ไอดอลของตัวเองในคอนเสิร์ต ก็เพราะว่ามันคือสถานที่เดียวที่ทำให้พวกเขาได้แสดงพลังร่วมกัน เพราะในชีวิตจริงชาวญี่ปุ่นมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้น้อย

 

 

5. มีการคาดการณ์ว่าวงไอดอลอย่าง AKB48 หรือ 48Group สามารถทำรายได้สูงถึง 1,000 ล้านเหรียญต่อปี (ราวๆ สามหมื่นหนึ่งพันก้าวร้อยล้านบาท) ส่วนใน Wikipedia มีข้อมูลเสริมระบุว่าแค่ในปี 2012 กลุ่ม AKB48 ก็สามารถทำเงินได้มากถึง 7,000 ล้านบาท

6. หนุ่มๆ หลายคนที่เลือกจะเชียร์ไอดอลมากกว่ามีแฟนจริงๆ เพราะพวกเขาคิดว่าการมีแฟนนั้นยุ่งยากเกินไป ในขณะที่ไอดอลจะไม่ต่อล้อต่อเถียงกับคุณหรือสร้างเรื่องลำบากใจให้คุณเลย มีเพียงการให้กำลังใจและเอนเตอร์เทนแฟนๆ

 

 

7. โอตะบางคนยอมเลิกกับแฟนของตัวเอง เพื่อจะได้เอาเวลามาติดตามไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบแบบจริงๆ จังๆ

8. ชาวญี่ปุ่นไม่ได้ชื่นชอบไอดอลไปซะหมด เพราะบางคนก็มองว่าไอดอลควรถูกแบน เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายไม่กล้ามีความสัมพันธ์จริงๆ ส่งผลให้คนแต่งงานและมีลูกน้อยลง

 

 

9. โอตะบางคนยอมรับว่าการติดตามไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบ บางทีก็เป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก บางคนต้องเสียเงินเดือนละกว่า 5-6 หมื่นบาท โดยที่ไม่เหลือเงินเก็บเลย

10. โอตะบางคนยอมรับว่าความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อไอดอลนั้น บางทีก็มีความรู้สึกทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

 

หากใครอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะคิดว่าวงการไอดอลนั้นมีแต่เรื่องเลวร้ายและนำพาแต่เรื่องชวนจิตตกล่ะก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะตัวสารคดีโตเกียวไอดอลเองนั้นพยายามนำเสนอเพียงแค่บางแง่มุมเท่านั้น จนน่าเสียดายที่เราไม่ได้เห็นด้านดีๆ ของไอดอลสักเท่าไหร่

เพราะอย่าง BNK48 เองก็เคยมีเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการดีขึ้นเพราะมาติดตามผลงานของเหล่าสาวๆ หรือแม้แต่แฟนคลับรุ่นคุณยายที่พอมาติดตามกลุ่มไอดอลกลุ่มนี้ก็ช่วยให้แกมีความสุขในการดำเนินชีวิตมากขึ้นเช่นกัน

หากใครสนใจและอยากดูแบบเต็มๆ ล่ะก็ สามารถหาชมได้แล้วผ่าน Netflix นะจ๊ะ

เรียบเรียงโดย เหมียวฟิ้น

Comments

Leave a Reply