เราอาจเคยได้ยินหรือเชื่อว่า วิดีโอเกม คือสิ่งที่กระตุ้นเหล่าผู้เล่นให้มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และยิ่งเกมมีความสมจริงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้คนเหล่านั้นมีความก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้นตามไป แต่จากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษได้ออกมาบอกว่า ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอกนะ
นี่เป็นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย York ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Computers in Human Behavior เหล่านักวิจัยได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,000 คน เพื่อต้องการทราบว่า เกมเป็นสิ่งสำคัญที่เพิ่มความก้าวร้าวของคนได้จริงหรือไม่
การทดลองของพวกเขากำหนดให้กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม และต้องเจอกับเกมที่มีความหลากหลายต่างกันไป โดยในการทดลองแรกแบ่งให้กลุ่มหนึ่งเล่นเกมขับรถที่ต้องคอยหลบสิ่งกีดขวาง ส่วนอีกกลุ่มเล่นเกมที่ได้สวมบทบาทเป็นหนูที่คอยหลบไม่ให้ถูกแมวจับได้
จากนั้นผู้เข้าร่วมจะได้ทำแบบทดสอบที่ให้พวกเขาแยกรูปภาพของสิ่งต่างๆ ว่าจัดอยู่ในประเภทของยานพาหนะหรือว่าสัตว์ ซึ่งหากผู้เข้าร่วมสามารถทำการแยกประเภทได้ไวกว่าปกติ นั่นหมายความว่าเกมที่พวกเขาเล่นสามารถส่งผลกับความคิดของพวกเขาได้จริง
แต่ผลการทดลองที่ออกมากลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้เล่นเกมขับรถที่มีบางคนแยกหมวดหมู่ของภาพที่เห็นได้ช้ากว่าปกติมากเลยทีเดียว
สำหรับการทดสอบครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าเกมไม่ได้ส่งผลต่อตัวผู้เข้ารับการทดสอบ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การทดลองต่อไป ให้คนเหล่านั้นได้มาเล่นเกมที่มีความสมจริงเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์มากยิ่งขึ้น อย่างเกมแนวที่เรียกว่า Ragdoll Physics ที่สมจริงในลักษณะทางกายภาพ
เกมที่พวกเขาได้เล่นในครั้งนี้มีความสมจริงทั้งตอนหกล้ม ตกบันได หรือตอนที่ตกลงมาจากตึก ร่างกายของหุ่นในเกมจะตอบสนองเหมือนกับมนุษย์จริงๆ เช่นอาการบาดเจ็บต่างๆ นอกจากนั้นพวกเขายังได้เล่นเกมต่อสู้ หรือเกมการรบอื่นๆ อีกด้วย
เกมในรูปแบบ Ragdoll Physics
ดอกเตอร์ David Zendle จากภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หนึ่งในผู้นำวิจัยในครั้งนี้ บอกว่า “มีหลายการทดลองก่อนหน้านี้ที่ศึกษากับเกมที่มีภาพกราฟฟิกสมจริง แต่ผลลัพธ์ที่ได้มานั้นกลับหลากหลายและแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามการจะพูดถึงเกมที่มีความสมจริงก็สามารถพูดถึงลักษณะความเป็นจริงอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากภาพที่ดูเหมือนจริง”
เขากล่าวเสริมว่า “ดังนั้นการใช้เกม Ragdoll Physics ที่สามารถสื่อถึงร่างกายมนุษย์เวลาทำสิ่งต่างๆ ก็นับว่าเป็นเกมที่มีความสมจริงอย่างมากเกมหนึ่ง ผู้เล่นจะสามารถรับรู้ได้ถึงลักษณะของการขยับร่างกายต่างๆ กะโหลกศีรษะ หรือแม้แต่อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้จริงทั้งหลาย”
เมื่อผู้เข้าร่วมทุกคนได้เล่นเกมต่างๆ จนครบแล้ว พวกเขาก็ต้องทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า Word Fragment Completion Tasks ให้พวกเขาทำการเชื่อมคำต่างๆ ที่กำหนดให้ เพื่อดูว่าผู้เข้าร่วมมีการเชื่อมคำที่หยาบคายหรือก้าวร้าวมากขนาดไหน
ผลลัพธ์คือไม่มีการพบว่าเกมส่งผลต่อความก้าวร้าวของผู้เล่น ความแตกต่างของเกมแต่ละแบบก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันมากนัก แม้ว่าจะเป็นเกมที่สมจริงหรือไม่สมจริงก็ตาม และในส่วนของเกมแนววางแผนกลยุทธ์ สู้รบ ก็ไม่ได้มีการส่งผลแตกต่างจากเกมอื่นๆ แต่อย่างใด
นอกจากนั้นการค้นพบในครั้งนี้ยังบอกอีกว่า ไม่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างประเภทของเกมต่างๆ ที่มีความสมจริงแตกต่างกันไป รวมถึงผลกระทบที่ส่งผลต่อผู้เล่นเองก็ไม่มีการเชื่อมโยงหรือถูกแบ่งออกได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามเหล่านักวิจัยก็ออกมาแนะนำให้ผู้เล่นเกมรู้จักหยุดพักบ้าง ไม่เล่นติดต่อกันมากจนเกินไป เพราะมันจะช่วยรักษาความคงที่ในเรื่องของระดับความเครียด อารมณ์โดยรวม และความเหนื่อยล้าของสมองได้อย่างดีเยี่ยม เพราะฉะนั้นแล้วเพื่อนๆ ก็อย่าลืมผละจากหน้าจอเครื่องมือต่างๆ ออกไปทำอย่างอื่นบ้างนะ
ที่มา: indy100
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.