“3 วิธีการพูด” ที่เป็นสัญญาณว่าคุณมีแนวโน้มของ “โรคซึมเศร้า” ลองไปสังเกตกันดู…

ในสังคมปัจจุบันนี้เราสามารถพบเห็นผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าในสมัยก่อน โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะไม่เหมือนกับความรู้สึกเศร้าของคนทั่วไปที่เกิดขึ้นและหายไปเป็นครั้งคราว พวกเขาจะรู้สึกซึมเศร้าเป็นประจำและแต่ละครั้งก็ยาวนานกว่าปกติ แถมบ่อยครั้งยังไม่รู้สาเหตุของความเศร้าด้วย

อย่างไรก็ตามการที่จะสังเกตว่าเราหรือคนรอบตัวเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก บางคนก็เป็นโรคซึมเศร้าโดยที่ไม่รู้ตัว หากอยากทราบแน่ชัดต้องไปให้จิตแพทย์วินิจฉัยเท่านั้น แต่ในวันนี้มีอีกหนึ่งวิธีสังเกตที่ได้ผ่านผลการรับรองจากนักวิจัยแล้ว ด้วยการสังเกตจากวิธีพูดของแต่ละคนนั่นเอง

 

 

งานวิจัยที่ว่านี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Clinical Psychological Science โดยทำการทดลองจากการอ่านบันทึก และฟังบทสนทนาจำนวนมากของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า และคนที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า จึงสังเกตเห็นว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีการใช้ภาษาที่แตกต่างออกไปดังนี้

 

1. มักจะใช้สรรพนามบุคคลที่หนึ่งที่เป็นเอกพจน์

 

คนเป็นโรคซึมเศร้ามักจะใช้สรรพนามกล่าวถึงตัวเองเช่น ฉัน ผม หรือเรา(ในกรณีที่หมายถึงตัวเองคนเดียว) อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นมากนัก อาจจะเป็นเพราะเพวกเขาชอบปลีกตัวมาอยู่คนเดียวมากกว่าจะอยู่คนจำนวนมากก็ได้

อีกทั้งการใช้สรรพนามแบบนี้ ยังทำให้เราเห็นว่าคนที่เป็นโรคซีมเศร้ามักจะให้ความสนใจกับตัวเองและแนวคิดของตัวเองมากเป็นพิเศษ และไม่ค่อยสนใจแนวคิดในแบบของคนอื่นมากนัก

 

2. พูดถ้อยคำที่มีความหมายในเชิงลบอยู่บ่อยครั้ง

 

เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไปแล้ว คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะใช้คำที่มีความหมายเชิงลบมากกว่า โดยคำพูดเหล่านั้นมักจะเกี่ยวกับอารมณ์ในเชิงลบเช่น เศร้า และเหงา เป็นต้น และยังรวมไปถึงคำพูดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของตัวเองด้วย แต่ผลการวิจัยก็ชี้ว่าการใช้สรรพนามบ่งบอกถึงโรคซึมเศร้าได้ดีกว่าการใช้คำพูดในเชิงลบอย่างเห็นได้ชัด

 

3. ภาษาที่ใช้มักจะมีความสุดโต่ง

 

เมื่อคนเราอยู่ในภาวะซึมเศร้าก็มักจะใช้ภาษาแบบสุดโต่ง (ถ้าไม่ขาวก็ดำไปเลย ไม่มีระหว่างกลาง) มากกว่าที่คิด อย่างเช่นคำว่า เป็นประจำ ไม่เคย เต็มไปหมด ไม่มี และทั้งหมด เป็นต้น

นั่นก็เพราะคนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ค่อยเปิดแนวคิดและมุมมองของคนอื่น การยึดถือว่าความคิดของตัวเองน่าจะถูกจึงทำให้ภาษาที่ใช้ออกมาสุดโต่งแบบนี้

 

 

ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของโรคซึมเศร้าเท่านั้น เราไม่ควรจะนำเอาข้อสังเกตเหล่านี้ไปสรุปว่าคนอื่นเป็นโรคซึมเศร้าในทันที เนื่องจากท่าทีการพูดของแต่ละคนนั้นอาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวก็ได้เช่นกัน

อย่างไรเสียวิธีเหล่านี้ก็เป็นแค่ตัวช่วยสังเกตอีกทางหนึ่งอยู่ดี หากให้ดีเราควรจะเข้าไปถามพูดคุยกับคนที่ใช้ภาษาทำนองนี้ดูว่าเขามีปัญหาอะไรอัดอั้นใจอยากระบายให้ฟังบ้างหรือเปล่า

หากไม่มีอะไรก็แล้วไป แต่หากเขาเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ จะได้ให้จิตแพทย์หาวิธีที่เหมาะสมมาเยียวยาเขาเอง

 

ที่มา: Metro

Comments

Leave a Reply