ทำความรู้จักกับ “นินจา” พวกเขาเป็นใคร? มีคาถาจริงหรือไม่? เชิญชมการทดลองและคำอธิบายเชิงจิตวิทยา

นักลอบสังหารแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย ผู้ที่มีความว่องไวและเชี่ยวชาญการต่อสู้หลายรูปแบบ คือคำนิยามที่ผู้เขียนให้กับ “นินจา” นอกจากนินจาจะมีความสามารถด้านการต่อสู้แล้ว ว่ากันว่าพวกเขายังมีคาถาอาคมอีกด้วย

แต่ว่าอย่าเพิ่งตื่นเต้นไป วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “นินจา” ให้มากขึ้น ด้วยประวัติของพวกเขา และคำอธิบายเชิงจิตวิทยา ว่าที่จริงแล้วนินจาคืออะไรและมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง

 

 

ต้นกำเนิดของนินจา

 

นินจา (Ninja) หรือ ชิโนะบิ (Shinobi) แปลว่า “ทำอย่างลับๆ” เป็นคำที่สามารถบ่งบอกคุณลักษณะของพวกเขาได้อย่างดี เนื่องจากนินจาเป็นกองกำลังสายลับในสมัยเซ็งโงะคุช่วงศตวรรษที่ 15 พวกเขามีทักษะขั้นสูงในด้านการจารกรรม วินาศกรรม การแฝงตัว การลอบสังหาร และการสู้เป็นกลุ่ม

อาวุธที่เหล่านินจาใช้ก็จะเป็นอาวุธที่พกพาง่าย ใช้สะดวก น้ำหนักเบา และสามารถใช้ได้ในระยะไกล เช่น มีดสั้น และดาวกระจาย ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า ก็คือ “การทำสัญลักษณ์มือโบราณเก้ารูปแบบ” ที่เชื่อว่าเป็นคาถาอาคมของเหล่านักฆ่ากลุ่มนี้

ในช่วงความไม่สงบทางสังคมช่วงศตวรรษที่ 15-17 เหล่านินจานั้นมีบทบาทมากในจังหวัดอิกะ โดยเฉพาะรอบหมู่บ้านโคะกะซึ่งเป็นหมู่บ้านฝึกฝนนินจาด้วยตำราชิโนะบิที่มาจากปรัชญาสงครามของจีน

โดยในช่วงปี 1868 สมัยฟื้นฟูเมจิ คำว่า “นินจา” ก็ได้กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าขานและตำนานตั้งแต่นั้นมา และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่เรื่องราวของเหล่านินจาถูกนำมาแต่งเติม เช่นที่ว่า นินจาสามารถล่องหนได้ เดินบนน้ำได้ หรือแม้แต่ควบคุมธรรมชาติได้

 

 

เรื่องเล่าขานของนินจาเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ตามกาลเวลา เช่น ฮัตโตะริ ฮันโซ (Hattori Hanzō) สมัยปี 1542-1596 เดิมทีเขาเป็นซะมุไรในตำนานจากจังหวัดอิกะ แต่ภายหลังได้มีตำราคาถานินจา (Ninjutsu) ถูกเผยแพร่ออกมาโดยลูกหลานของเขา จึงทำให้นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยกให้ฮันโซเป็น “ปรมาจารย์นินจา”

 

สัญลักษณ์มือโบราณเก้ารูปแบบ (Kuji-kiri)

 

วิถีแห่งนินจานั้นได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่โด่งดัง แต่ก็ยังไม่มีใครพูดถึงสิ่งที่ลึกลับที่สุดสำหรับนินจา นั่นก็คือ สัญลักษณ์มือโบราณเก้ารูปแบบ (Kuji-kiri) คำว่า Kuji นั้นแปลว่า “สัญลักษณ์ทั้ง 9”

ส่วน Kiri นั้นแปลว่า “การตัด” รวมกันแล้วหมายถึงถึงตัวย่อของอักษรทั้งเก้า ที่ประกอบไปด้วย Rin, Pyo, To, Sha, Kai, Jin, Retsu, Zai, และ Zen

เหล่าผู้เชี่ยวชาญถกเถียงกันถึงที่มาของกระบวนการทำสัญลักษณ์เหล่านี้ ทว่าสุดท้ายกลับพบว่ามีการฝึกฝนด้วยวิธีการทำสัญลักษณ์มือเก้ารูปแบบ ณ ภูเขา Shugendō อันเป็นสถานที่ประกอบการฝึกสมาธิของศาสนาพุทธและลัทธิชินโต ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสัญลักษณ์มือของนินจามาก

 

 

การทำสัญลักษณ์ทั้งเก้า เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์หรือไม่?

 

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเหล่านินจามีการใช้สัญลักษณ์มือเพื่อควบคุมสภาวะจิตใจของตนให้สามารถดำเนินภารกิจต่างๆ ได้ภายใต้ความตึงเครียด นอกจากนี้สัญลักษณ์มือแต่ละแบบเชื่อว่าจะสามารถดึงพลังต่างๆ ออกมาได้

หากว่าตัดเรื่องเหนือธรรมชาติออกไป การทำสัญลักษณ์มือนั้นเป็นเหมือนกับการรวบรวมสมาธิด้วยท่าทางของมือ การกำหนดลมหายใจ และการสร้างจินตภาพ

แน่นอนว่าวิธีการเหล่านี้ช่วยเปลี่ยนแปลงสภาวะทางจิตใจ หรืออาจพูดได้ว่าเป็นการสะกดจิตตัวเอง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนทางกายภาพ

เพื่อให้เข้าใจได้ถ่องแท้ จึงมีการวิจัยเกี่ยวกับ Kuji-kiri ขึ้นมาในปี 2012 โดย มหาวิทยาลัยมิเอะ ในเมืองสึ เป็นการศึกษาวิจัยถึงผลของการทำ Kuji-kiri โดย “นินจามืออาชีพ” 15 คน

 

การทำสัญลักษณ์มือของนินจา (Kuji-kiri)

 

ในส่วนแรกของการวิจัย มีการวัดคลื่นสมองและอัตราการเต้นของหัวใจก่อนและหลังทำ Kuji-kiri ผลก็คือ นินจาทั้ง 15 คนมีการเพิ่มขึ้นของคลื่นสมอง Alpha-2 ที่ทำให้เกิดการระวังตัวกับการผ่อนคลาย

และยังลดระดับของคลื่นสมอง Beta ที่ทำให้รู้สึกถูกรบกวนและรู้สึกวิตกกังวล นอกจากนี้ยังลดการผลิตคลื่นสมอง Theta ที่มักจะผลิตออกมาขณะพักผ่อนและนอนหลับอีกด้วย

การวิจัยในส่วนที่สองนั้น เป็นการทดลองการตอบสนองต่อความกลัวก่อนและหลังการทำ Kuji-kiri ซึ่งผลก็ออกมาชัดเจนว่า มีการเพิ่มขึ้นของคลื่นสมอง Alpha-2 และการลดลงของคลื่นสมอง Beta

 

 

การวิจัยเชิงการคิดและประสาทวิทยาในปัจจุบันได้สนับสนุนผลทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นจากการฝึกทำสมาธิ วิธีทำสมาธิที่สืบทอดมาจากอดีตกาล เช่น วัชรยานและฮินดูตันตระ นั้นมีหลักฐานออกมาแล้วว่าสามารถกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติและความตื่นตัว

ในพระคำภีร์ของศาสนาพุทธนั้นคงไว้ซึ่งคำกล่าวที่ว่า “การการกระตุ้นจิตใจขณะทำสมาธิแบบวัชรยาน” และ “ทำสภาวะจิตให้สงบและตื่นตัวขณะทำสมาธิแบบเถรวาทและมหายาน” อันเป็นสิ่งที่ทำให้คนยุคปัจจุบันทราบถึงปัญญาของคนในสมัยอดีตกาลเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมสภาวะจิตใจ

 

 

รูปแบบการกำหนดสมาธิดังกล่าวสอดคล้องกับคลื่นสมองที่เป็นผลลัพธ์จากการทำ Kuji-kiri ของนินจาอย่างสมบูรณ์แบบ มีเพียงแค่เรื่องของความเร็วในการเปลี่ยนแปลงสภาวะจิตใจเท่านั้นที่แตกต่างกัน

เหล่า “นินจามืออาชีพ” ในงานวิจัย มีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมองที่แทบจะ “ทันที” และมันก็ค่อยๆ กลับสู่สภาพเดิมอย่างช้าๆ

การเปลี่ยนแปลงสภาวะทางจิตใจเองก็พบในการทำโยคะเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามการทำ Kuji-kiri หรือสัญลักษณ์มือโบราณเก้ารูปแบบนั้นถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาวะจิตใจและสร้างพลังงานทางจิตได้รวดเร็วที่สุด

 

ที่มา: Ancient-Origins

Comments

Leave a Reply