ว่ากันว่างานศิลปะมักจะมีความหมายที่สะท้อนนัยยะบางอย่างออกมาเสมอ แต่บางครั้งความหมายของมันอาจจะไม่ได้มองเห็นได้ง่ายๆ มันอาจจะต้องอยู่ที่การตีความของผู้ชม ด้วยเหตุนี้บางครั้งเราจึงสงสัยว่าทำไมงานศิลปะบางชิ้นถึงได้เรียบง่ายและช่างดูเล็กน้อยเสียเหลือเกิน
และอาจจะเกิดข้อสงสัยนี้ขึ้นอีกเมื่อคุณได้เห็น The Castle ผลงานศิลปะในปี 2007 ของศิลปินชาวเม็กซิโกนามว่า Jorge Méndez Blake ที่เป็นการก่ออิฐขึ้นมาเป็นกำแพงขนาดเกือบ 21 x 4 เมตรเพื่อเป็นการศึกษาถึงเรื่องของอิทธิพลจากหนึ่งแรงภายนอก
เขานำอิฐมาวางเรียงกันบน “หนังสือ” เล่มหนึ่งที่ชื่อว่า The Castle ของ Franz Kafka โดยไม่ใช้ปูนเชื่อม ปรากฏว่ากองอิฐจำนวนมากเรียงกันเป็นแนวโค้งขึ้นบริเวณเหนือจุดที่มีหนังสือ ยิ่งไปกว่านั้น รอยโค้งยังส่งผลให้อิฐเรียงตัวกันเป็นแนวโค้งตั้งแต่ด้านล่างไปจนถึงด้านบน
ในความจริงแล้วงานศิลปะชิ้นนี้สามารถสะท้อนความหมายเชิงอุปลักษณ์ (เปรียบเปรย) ได้ไม่ว่าจะใช้หนังสือเล่มไหนหรือเรื่องใดก็ตาม แต่ Méndez Blake เจาะจงเลือกใช้หนังสือเรื่อง The Castle เนื่องจากต้องการสรรเสริญวิถีชีวิตและผลงานของ Kafka ที่เป็นผู้เขียน
Kafka เป็นนักประพันธ์ที่มีลักษณะเป็นคนเก็บตัวสูง และได้เขียนงานของเขาอย่างเงียบๆ มาตลอดชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นหนังสือของเขายังได้รับการตีพิมพ์โดยเพื่อนของเขา Max Brod หลังจากที่ตัว Kafka เองเสียชีวิตไปแล้ว
ผลงานที่แสนเรียบง่ายแต่ทรงพลังชิ้นนี้ สะท้อนนัยยะผ่านกองอิฐและปึกกระดาษของหนังสือว่า ผลงานนวนิยายของ Kafka ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงความคิดเล็กๆ แต่ก็สามารถสะท้อนถึงการมีตัวตนอันทรงพลังของเขาได้
เฉกเช่นกองอิฐอันหนักอึ้งที่ยังต้องสูญเสียรูปกระบวนการก่อตัว เพียงเพราะปึกกระดาษปึกเดียวที่ค้ำไว้ด้านล่าง
ที่มา: Thisiscolossal
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.