นักวิทย์พบฟอสซิล ‘แมงมุม’ อายุกว่า 100 ล้านปีในอำพัน สภาพสมบูรณ์ แถมมีหางด้วย!?

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2018 สำนักข่าว Daily Mail ได้รายงานถึงเรื่องการค้นพบสุดเหลือเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ไปเจอเข้ากับซากฟอซซิลแมงมุมอายุกว่า 100 ล้านปี ที่มีหางยาวออกมาเหมือนกับแมงป่อง

นี่เป็นการค้นพบของทีมงานจากหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี และสหราชอาณาจักร โดยพวกเขาเจอเจ้าสิ่งนี้เขตหุบเขา Hukawng ประเทศพม่า

 

ลักษณะของแมงมุมที่มีการค้นพบในอำพัน

 

แมงมุมทั้ง 4 ตัวที่พวกเขาค้นพบว่าเป็นซากอยู่ในก้อนอำพัน เป็นสิ่งมีชีวิตที่หลงเหลือมาจากยุคกลางครีเทเชียส เมื่อ 100 ล้านปีก่อน สมัยที่ไดโนเสาร์ยังมีชีวิตกันอยู่

สภาพของพวกมันเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบจริงๆ นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบอวัยวะร่างกายโดยรอบของพวกมันได้อย่างชัดเจน ทั้งขา เขี้ยว อวัยวะที่ใช้ปล่อยใย อวัยวะบ่งบอกเพศที่ทำให้รู้ว่าทุกตัวคือตัวผู้ และหางที่ไม่มีอยู่ในแมงมุมสมัยนี้

นักวิทย์เชื่อว่าหางที่ติดตัวพวกมันมามีการทำงานเหมือนกับหางของแมงป่องคือ เป็นตัวรับสัมผัสใช้สำหรับการสำรวจสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ไว้มองหาเหยื่อที่จะกลายมาเป็นอาหาร

 

 

ขนาดตัวของแมงมุมหน้าตาประหลาดเหล่านี้ก็ถือว่าเล็กเอามากๆ ลำตัวของพวกมันยาวแค่ประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ส่วนหางนั้นจะยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร

และนี่เป็นครั้งแรกที่มีการพบหางติดอยู่กับตัวแมงมุม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการคาดการณ์เอาไว้ถึงสิ่งมีชีวิตที่ลักษณะคล้ายกับแมงมุมมีหางเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีตัวปล่อยใย อาศัยอยู่บนโลกของเราในยุคเดโวเนียนเมื่อประมาณ 380 ล้านปีก่อน และยุคเพอร์เมียน เมื่อราวๆ 290 ปีก่อน

แต่การค้นพบในครั้งนี้คือแมงมุมที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 100 ปีก่อน นี่จึงอาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ จากตอนแรกที่มีหางแต่ไม่มีตัวปล่อยใย จนกระทั่งมีตัวปล่อยใย และมาจนถึงปัจจุบันที่ไม่มีหางแล้ว

 

สิ่งมีชีวิตที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้

.

 

แต่ถึงแม้ว่าแมงมุมที่ถูกค้นพบล่าสุดนี้จะมีอวัยวะปล่อยใย แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถระบุได้ว่ามันมีไว้เพื่อการสร้างใยเหมือนอย่างปัจจุบัน เพระมันอาจจะมีไว้แค่ห่อไข่ ไว้สร้างโพรง หรืออาจจะแค่ทำเปลนอนเท่านั้นเอง

อีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจคือ อำพันได้กลายเป็นตัวช่วยที่ทำให้สามารถรักษาสภาพของเจ้าแมงมุมทั้ง 4 ตัวเอาไว้ได้ เพราะมันคืออัญมณีที่เกิดจากยางของต้นไม้ การแข็งตัวของมันจึงทำให้เราสามารถเห็นแมงมุมจากยุคไดโนเสาร์ด้วยสภาพที่เกือบจะสมบูรณ์แบบ

อีกทั้งนี่ยังไม่ใช่การค้นพบซากสิ่งมีชีวิตในหุบเขาแห่งนี้เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบปีกของนกอันเก่าแก่และสวยงามมากมาย หางของสิ่งมีชีวิตที่คาดว่าจะเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก รวมถึงโครงของนกในยุคดึกดำบรรพ์

 

เขตพื้นที่ที่มีการพบซากแมงมุมโบราณทั้ง 4 ตัว

 

ศาสตราจารย์ Paul Seldon ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ จากมหาวิทยาลัยแคนซัส สหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในผู้นำการค้นพบครั้งนี้ เขาบอกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้สามารถพบได้ในแอ่งน้ำยางต้นสน ในเขตป่าฝน

Paul เชื่อว่าอาจจะมีลูกหลานของแมงมุมหน้าตาประหลาดนี้อาศัยอยู่ในประเทศพม่าอีก ซึ่งเขาและทีมงานก็จะเข้าไปสำรวจเพิ่มเติมภายหลัง รวมถึงป่าฝนที่อื่นๆ ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นสิ่งมีชีวิตจากยุคก่อนที่หลงเหลืออยู่บนโลกของเราอีกก็ได้ แล้วมันก็จะช่วยทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า สมัยก่อนมันเคยมีอะไรเจ๋งๆ และน่าทึ่งเกิดขึ้นมาบ้าง เหมือนอย่างแมงมุมมีหางเหล่านี้

 

ที่มา: dailymail

Comments

Leave a Reply