หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียน (School Shooting) เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018 ที่ผ่านมา ทำให้ในตอนนี้ได้เริ่มมีการพูดอภิปรายเรื่องกฎหมายการควบคุมปืนเกิดขึ้นแล้ว ในประเทศสหรัฐฯ
โดยผู้ต้องหาก่อเหตุดังกล่าวมีชื่อว่า Nikolas Cruz ที่ใช้อาวุธปืนไรเฟิลจู่โจม AR-15 เข้าไปกราดยิงผู้คนในโรงเรียน Marjory Stoneman Douglas อดีตโรงเรียนมัธยมของเขา ซึ่งได้ทำให้มีคุณครูและนักเรียนกว่า 17 คนต้องเสียชีวิตด้วยกระสุนจากปลายกระบอกปืนกึ่งอัตโนมัติกระบอกนั้น
การสังหารหมู่ในวาเลนไทน์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเหตุการณ์กราดยิงที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญคือนี่เป็นการกราดยิงในโรงเรียนครั้งที่ 18 แล้วในเวลาเพียงแค่ 44 วันของการเปิดศักราชปี 2018
โดยการเกิดเหตุการณ์กราดยิงขึ้นแต่ละครั้ง ก็จะทำให้ชาวอเมริกันตื่นตัวขึ้นมาในเรื่องกฎหมายควบคุมอาวุธ ซึ่งถ้าหากพูดจริงๆ แล้วก็จะสามารถแบ่งผู้คนได้เป็นสองฝั่งนั่นคือ ฝั่งหนึ่งต้องการที่จะให้มีกฎหมายควบคุมอาวุธที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันอีกฝั่งหนึ่งก็ต้องการอาวุธเอาไว้เพื่อป้องกันตัวเองจากภัยอันตรายต่างๆ
สำหรับคนที่เรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น พวกเขาได้ชี้ไปยังประเทศอื่นอย่าง ออสเตรเลียที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยเมื่อ 22 ปีที่แล้วในปี 1996 ชายชื่อว่า Martin Bryan ได้ก่อเหตุสะเทือนขวัญในทำนองเดียวกันนั่นคือการกราดยิง ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้กลายเป็นการฆาตกรรมหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศออสเตรเลีย โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 35 คนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกถึง 23 คน
Nikolas Cruz
เขาถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตติดต่อกันถึง 35 ครั้งในคดีที่เขาก่อ และในปัจจุบัน Bryant ยังคงชดใช้กรรมอยู่ที่เรือนจำ Risdon Prison Complex ในประเทศออสเตรเลีย
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลียในเวลานั้น ก็เช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาตอนนี้ นั่นก็คือประเด็นเรื่องการควบคุมอาวุธปืนได้ลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง
John Howard นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลียในเวลานั้น จึงได้ออกมาแถลงการณ์ถึงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ประเทศออสเตรเลียจะต้องไม่เป็นเหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา
จากนั้นเขาก็ได้นำกฎหมายการควบคุมอาวุธอย่างเข้มงวดมาใช้กับประเทศออสเตรเลียโดยมีเสียงกว่า 85% ของประชาชนชาวออสซี่ทั้งหมดให้การสนับสนุน
จึงทำให้ผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนที่เข้าข่ายการควบคุม ต้องคืนอาวุธของพวกเขาให้แก่รัฐบาล ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องมีค่าใช้จ่ายกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท) ในการยึดคืนปืนจำนวน 643,000 กระบอกในครั้งนั้น
การยึดคืนปืนในครั้งนั้นทำให้ประเทศออสเตรเลีย ไม่เคยต้องเผชิญกับเหตุกาณณ์กราดยิงที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 คนอีกเลยตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 1996 จากการเปิดเผยของวารสาร Journal of the American Medical Association ที่ตีพิมพ์ในปี 2016
อีกทั้งยังมีจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนลดลงอีกลงเป็นอย่างมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นเกิดขึ้น นี่จึงอาจจะกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เราอาจได้เห็นมันเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นได้
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.