เวลาที่เราเล่นกับเจ้าเหมียวเพื่อนรักหรือตอนที่เราพามันขึ้นมานอนตัก เราอาจเคยได้ยินเสียงครวญครางแว่วออกมาจากในลำคอของพวกมัน ทำให้เราเข้าใจว่าเจ้าเหมียวรู้สึกเพลิดเพลินและสุขสบายกับช่วงเวลานั้นอยู่ แต่มันก็อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไปหรอกนะ
Tony Buffington ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมวและเป็นสัตวแพทย์ในมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เขาได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับเสียงครางของแมวเอาไว้ว่า “ทุกพฤติกรรมของพวกมันนั้นขึ้นอยู่กับเบื้องหลังความเป็นมา บริบทในตอนนั้น และความคาดหวัง”
เขาอธิบายว่ามันก็เหมือนกับการที่เราหัวเราะ แต่ไม่ได้แปลว่าเรากำลังตลกเสมอไป พวกแมวเองก็เช่นกัน การที่มันส่งเสียงร้องไม่ได้แปลว่าต้องมีความสุขเสมอไป อาจเป็นเพราะว่ามันกำลังกลัว หิว รู้สึกเจ็บ หรืออื่นๆ ก็เป็นได้
อย่างถ้าเป็นแม่แมวมันจะส่งเสียงครางออกมา เพื่อนำลูกน้อยที่เพิ่งเกิดมาแล้วยังคงตาบอดกับหูหนวกอยู่ไปยังสถานที่อันอบอุ่นหรือพาไปหาอาหาร ในขณะที่สัตวแพทย์เชื่อว่าลูกแมวส่งเสียงออกมาเพื่อบอกให้รู้ว่าพวกมันยังสบายดี และช่วยสานสัมพันธ์ของมันกับแม่อีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่าการร้องครางของแมวจะช่วยให้ปล่อยสารเอ็นดอร์ฟีนที่ทำให้รู้สึกดีออกมา พวกเขาจึงเชื่อว่าการที่มันส่งเสียงแบบนั้นอาจเป็นเพราะว่ามันกำลังกลัวอยู่หรือเจ็บร่างกายอยู่ก็เป็นได้ และต้องการให้สารดังกล่าวมาช่วยเยียวยา
อีกทั้งยังมีการศึกษาที่บอกว่าถ้าทั้งร่างกายเราสั่นสะเทือนด้วยความถี่ 35-50 เฮิรตซ์ จะช่วยกระตุ้นรักษาอาการบาดเจ็บของกระดูกได้
และเสียงครางของแมวมีค่าความถี่อยู่ที่ 25-150 เฮิรตซ์ นั่นจึงอาจหมายความว่าพวกมันส่งเสียงแบบนั้นออกมาเพื่อทำให้กระดูกแข็งแรงอยู่เสมอนั่นเอง (วิธีนี้นักบินอวกาศของ NASA เองก็ใช้ เมื่ออยู่ในพื้นที่ไร้แรงโน้มถ่วง)
นอกจากนั้นเสียงครางของพวกมันก็มีโอกาสที่จะพุ่งสูงเกิน 150 เฮิรตซ์อยู่เหมือนกัน จาก การศึกษา หนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology บอกว่า เจ้าเหมียวจะครางออกมาในความถี่สูงถึง 220-520 เฮิรตซ์ เพื่อเรียกหาอาหาร ซึ่งนั่นใกล้เคียงกับเด็กทารกที่ส่งเสียงร้องไห้ออกมาเป็นความถี่ 300-600 เฮิรตซ์
นักวิจัยอธิบายไว้ว่าการที่พวกมันปล่อยเสียงในระดับความถี่ที่สูงขึ้น เพราะความถี่ยิ่งสูงมากเท่าไหร่ ผู้ปกครองของมันก็จะยิ่งปฏิเสธเสียงร้องของมันได้ยากมากเท่านั้น คล้ายๆ เด็กทารกที่ยิ่งร้องไห้ดังมากเท่าไหร่ พ่อแม่ยิ่งต้องให้ความสนใจมากเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการร้องครางของแมวทุกตัวใช่ว่าจะเหมือนกันหมด บางทีเจ้าเหมียวของเราอาจต้องการสื่ออย่างอื่นที่นอกเหนือจากนั้น ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับความใส่ใจของทาสอย่างเราๆ ว่าจะสามารถเข้าใจความต้องการของเจ้านายได้หรือไม่
ที่มา: rd
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.