ความขัดแย้งกับเด็กย่อมเกิดขึ้นในทุกครอบครัวอยู่แล้ว นักจิตวิทยากล่าวว่าสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของความขัดแย้งดังกล่าวคือ “การละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็ก” นั่นเอง เด็กๆ จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองโดนก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวที่ว่านี่เมื่ออายุราวๆ 3 ขวบเป็นต้นไป และจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ และเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก
ทางเดียวที่ผู้ใหญ่จะทำได้นั้นคือการปรับวิธีการเลี้ยงดูลูกให้เป็นไปตามการพัฒนาการของพวกเขา ดังนั้นนักจิตวิทยาจึงออกมาแบ่งปัน กฎระเบียบ 9 ข้อ สำหรับผู้ใหญ่ที่สามารถช่วยคุณใช้ชีวิตที่ดีร่วมกับบุตรหลานของคุณได้ ซึ่งมีเนื้อหา ดังต่อไปนี้
1. แทนที่จะด่า ให้ค้นหาข้อดีให้ลูกๆ แล้วสอนไปพร้อมๆ กับการชมเด็กๆ
ไม่มีใครชอบที่จะโดนด่า หรือวิจารณ์ แม้แต่คนที่นำเอาคำวิจารณ์ไปปรับปรุงการทำงานเอง ก็ใช่ว่าจะชอบที่ตัวเองต้องถูกวิจารณ์สักเท่าไหร่ และแน่นอนว่าเด็กๆ เองก็ไม่ชอบที่จะโดนวิจารณ์เรื่องแย่ๆ เสียทุกครั้ง
ประสบการณ์น่าโมโหเหล่านั้น อาจจะทำให้เด็กๆ ไม่สามารถติดต่อพูดคุยกับผู้คนตามปกติ หรือปิดกั้นตัวเองจนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่ดีไปเลย คุณควรที่จะลดการวิจารณ์ของคุณลง แม้ว่าบางครั้งจะดูเป็นเรื่องยากมาก ลองใช้การวิจารณ์บวกกับการพูดชม จะทำให้คุณได้รับผลที่ดีกว่าเดิมอย่างสิ้นเชิง!
ตัวอย่างจากภาพ: ลูกร้องเพลงได้เพราะมากเลยนะ ไว้ทานข้าวเสร็จแล้วช่วยมาร้องให้แม่ฟังหน่อยสิ เพราะนักแสดงตัวจริง เขาไม่ทานข้าวไป ร้องเพลงไปกันหรอกนะ
2. ให้ทางเลือกแก่ลูก
การทำตามคำสั่งหรือการทำหน้าที่ของครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็เพราะมันจำเป็นนั่นเองที่ทำให้เด็กๆ หลายๆ คนไม่ต้องการที่จะทำมัน โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่ต้องทำที่ว่า มาพร้อมกับเสียงดุด่าแล้วด้วย ดังนั้นแทนที่จะบังคับให้เด็กทำอะไร สู้มอบทางเลือกให้แก่พวกเขาจะดีกว่า
ให้เลือกใช้คำพูดที่ทำให้ทางเลือกที่ว่านั้นดูแตกต่าง แต่สุดท้ายก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์อันเดียวกันเป็นหลัก การได้เลือก และตัดสินใจ จะเพิ่มความนับถือตนเองให้แก่เด็กๆ โดยที่คุณยังสามารถควบคุมพฤติกรรมของบุตรหลานได้
ตัวอย่างจากภาพ:
ไม่ควร: ไปทำการบ้านเดี๋ยวนี้
ควร: ลูกอยากจะทำการบ้านที่ห้อง หรือว่าในครัวระหว่างที่แม่กำลังทำอาหารดี
3. อย่าไปดึงความสนใจของเด็กๆ จากสิ่งที่สำคัญของพวกเขา
ข้อนี้นั้นอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายแต่แท้จริงแล้วมันทำได้ยากกว่าที่คิด เพราะสิ่งสำคัญของลูกๆ นั้นบางครั้งกลับดูไร้สาระในสายตาของเรา การต่อตัวต่อสำหรับเราอาจจะเป็นเพียงเรื่องเล่นๆ แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว พวกเขาอาจจะกำลังสร้างสุดยอดงานศิลปะอยู่เลยก็ได้
การไม่ไปรบกวนการกระทำของเด็ก และจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่คุณอยากให้พวกเขาทำในเวลาเดียวกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ การเคารพพื้นที่ส่วนบุคคลของพวกเขานั้น ก็ไม่ต่างจากการที่คุณอยากให้คนอื่นเคารพพื้นที่ส่วนบุคคลของคุณนั่นแหละ
วิธีแก้ปัญหาที่ดีสำหรับปัญหานี้คือการ “ถาม” เด็กๆ ว่า พวกเขาสามารถหยุดเรื่องที่ทำไว้ก่อนได้หรือไม่
4. รู้จักยืดหยุ่นเสียบ้าง
เวลาที่เราทำอะไรกับลูกๆ นั้นพวกเรามักจะถูกผูกมัดด้วยกฎของผู้ใหญ่ที่ว่าสิ่งนั้นต้องทำแบบโน้นแบบนี้ จนบางครั้งแม้แต่ในการละเล่นพวกเราก็ถูกผูกมัดด้วยกฎเกณฑ์ไปด้วย
เด็กๆ นั้นมักจะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการที่สูงกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นบางครั้งการปล่อยให้เด็กคิดกฎที่แตกต่างของตัวเองขึ้นมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทันใดนั้นเกมใหม่อาจสนุกกว่าเดิมมากเลยก็เป็นได้
ตัวอย่างจากภาพ:
ไม่ควร: เล่นตามกฎสิลูก
ควร: ไหนเราลองมาคิดกฎกันเองดูสิ
5. อย่าบังคับให้ความช่วยเหลือของคุณ
การที่จู่ๆ คุณรำคาญที่เด็กๆ ทำอะไรชักช้า แล้วทำทุกอย่างแทนพวกเขาจะทำให้เด็กๆ ขาดการคิดวิเคราะห์และจินตนาการไป ทางที่ดีคุณควรจะรอให้เด็กๆ ขอความช่วยเหลือจากคุณก่อน แต่อย่าลืมประเมินดูว่าลูกๆสามารถรับมือกับงานได้ดีเพียงใด ถ้าลูกของคุณจัดการงานได้ดีแล้ว ให้ลองเสนอให้พวกเขาลองทำสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเองดูอีกครั้งก่อนที่จะเข้าไปช่วย
ตัวอย่างจากภาพ:
ไม่ควร: มาๆ เดี๋ยวแม่ทำให้เร็วกว่า
ควร: แม่ขาทำให้ดูหน่อยว่ามันต้องทำยังไง
6. ขอคำแนะนำจากเด็กๆ
เวลามีใครมาปรึกษาคุณหมายความว่าความคิดเห็นของคุณจะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เช่นเดียวกับ การขอคำแนะนำจากเด็กที่อายุน้อยกว่า จะทำให้พวกเขามีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดมากยิ่งขึ้น
การถามคำถามโดยตรง หรือขอให้เด็กๆ ช่วยในการตัดสินใจ จะทำให้เด็กๆ รู้สึกเหมือนเป็นผู้ใหญ่ และรู้สึกว่าคุณไว้วางใจในสิ่งที่พวกเขาพูด
ตัวอย่างจากภาพ:
ไม่ควร: เมื่อไหร่จะเสร็จ
ควร: ลูกไปเรียนสายทุกวันเลยนะ แม่ก็ไปทำงานสายตลอดเลย ลูกคิดว่าเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี
7. เอาใจใส่เด็กๆ ของคุณ อย่าตอกย้ำเวลาเขาทำอะไรพลาดมา
เวลาลูกๆ มีเรื่องมาปรึกษานั้น เราควรที่จะร่วมทุกข์ไปกับพวกเขาด้วย อย่าได้ตอกย้ำหรือรีบตัดบทลูกๆ เป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นเด็กๆ อาจจะไม่มาปรึกษาอะไรคุณอีกเลย ถ้าหากลูกๆ อยากร้องไห้ก็ควรที่จะปล่อยเขาร้องไห้ไป ปลอบโยนเขาดีๆ และเก็บเรื่องที่ต้องสั่งสอนไว้ทีหลังจะดีกว่า
ตัวอย่างจากภาพ:
ไม่ควร: ก็บอกแล้วว่าเธอไม่ใช่เพื่อนที่ดี
ควร: แม่เข้าใจว่าลูกเจ็บ ลูกอุตส่าห์ไว้ใจเธอแต่เธอกลับเอาความลับของลูกไปเปิดเผย
8. พูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับเรื่องสมมติ
การพูดคุยกับลูกๆ เรื่องสมมติเกี่ยวกับเด็กคนอื่น ๆ หรือการพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ และหนังสือ เป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพถ้าคุณต้องการให้เด็กค้นพบแนวคิดของตัวเอง แต่ก็ต้องดูด้วยนะว่าเด็กๆ อยากพูดถึงเรื่องที่เราถามไหม
ตัวอย่างคำถาม: “เจสันทะเลาะกับคนอื่นบ่อยๆ ลูกคิดว่าทำไมเขาเป็นแบบนั้น? และคิดว่าพ่อแม่ของเขาจะช่วยเขาได้ไหม”
สิ่งสำคัญอีกข้อคือจำไว้ว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพียงแต่เรื่องสมมติ อย่าได้ลากการสนทนานี้ไปรวมกับความเป็นจริงเด็ดขาด ไม่งั้นลูกของคุณอาจจะอาย หรือรำคาญจน ลูกๆ ไม่ยอมคุยเรื่องนี้กับคุณอีกเลยก็ได้
9. ทำอะไรอย่าลืมมีอารมณ์ขันด้วย
ไม่ว่าจะ ตลกล้อเลียน ของเล่นพูดได้ หรือการหัวเราะด้วยกันเมื่อดูการ์ตูน ทั้งหมดนี้จะสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานสำหรับครอบครัว นอกจากนี้ปัญหาหลายอย่างได้รับการแก้ไขได้เร็วขึ้นด้วยความช่วยเหลือของอารมณ์ขัน แต่ระวังอย่าให้หนักเกินไปนะ เด็กๆ จะตอบโต้อย่างรุนแรงเมื่อถูกเยาะเย้ย หรือเสียดสี
ตัวอย่างจากภาพ:
ไม่ควร: ผมไม่อยากแปรงฟัน
ควร: ช่วยแปรงฟันเถอะนะไม่งั้นนางฟ้าแห่งฟันก็อาจจะโมโหฉันก็ได้ แล้วฉันก็อาจจะโดนไล่ออกจากงานด้วย
ที่มา brightside
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.