“ข้าพเจ้าไม่รู้สึกเบื่อเลยที่จะชมกรุงไกรอันใหญ่โตที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินเสมือนเกาะ มีแม่น้ำกว้างใหญ่ ๓ เท่าแม่น้ำเซนอยู่โดยรอบ ในแม่น้ำเต็มไปด้วยเรือกำปั่นฝรั่งเศส อังกฤษ วิลันดา ญี่ปุ่น ไทย และยังมีเรือใหญ่น้อยอีกเป็นอันมากแทบจะนับมิถ้วน…” บาทหลวงเดอชัวสี อุปทูตชาวฝรั่งเศส
หากย้อนกลับไปถึงช่วงยุคสมัยเก่าแก่ของสยามประเทศนั้น ได้มีการติดต่อและค้าขายกับชาวต่างชาติมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือที่พำนักหรือบ้านของชาวต่างประเทศในดินแดนสยาม จะรวมตัวแบ่งออกเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันไป
แผนที่หมู่บ้านชาวต่างประเทศในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยชาวฝรั่งเศส
ข้อมูลชุดนี้อำนวยการโดย อนุสาร อ.ส.ท. โดยเปิดเผยว่า สมัยกรุงศรีอยุธยาชาวต่างประเทศที่เดินทางโดยเรือสำเภา ต้องแล่นเรือเข้าทางปากน้ำสมุทรปราการ ขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงชานพระนครด้านใต้ ก็ต้องจอดเรือตรงขนอนหลวงก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจผู้คนและสิ่งของ พร้อมทั้งเก็บภาษีสินค้าขาเข้าตามที่ตกลงไว้ แล้วจึงผ่านเข้าเขตพระนครได้
เรือสำเภาของต่างชาติได้รับอนุญาตให้จอดทอดสมอในแม่น้ำ คนละฝั่งกับเกาะเมือง ตั้งแต่บริเวณหน้าป้อมเพชร ที่เรียกว่า “บางกระจะ” เป็นแนวลงมาทางใต้
ซึ่งนอกเหนือจากคอนสแตนติน ฟอลคอน และท้าวทองกีบม้า ที่มีหน้าตาเป็นชาวต่างชาติในละครบุพเพสันนิวาสแล้ว ก็ยังมีชาวต่างประเทศชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้…
บ้านจีน
หมู่บ้านจีน เคยตั้งอยู่ตั้งแต่บริเวณวัดพนัญเชิงลงมาทางใต้ ตามหลักฐานทางเอกสารพบว่าชาวไทยจีนติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนครินทราธิราช กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา
เนื่องจากครั้งยังทรงเป็นพระอุปราช พระองค์เคยเสด็จเมืองจีนและสนิทสนมกับจักรพรรดิจีนอย่างมาก หมู่บ้านชาวจีนตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา
ในจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศกล่าวว่า ถนนบ้านจีนเป็นถนนที่ดีที่สุดสายหนึ่งในพระนครศรีอยุธยา สินค้าที่มากับสำเภาจีน ได้แก่ ไหมดิบ เครื่องลายคราม ผ้ากำมะหยี่ ผ้าแพร ขนสัตว์ เพชรพลอย ฯลฯ
บ้านแขก
ชาวแขกนับถือศาสนาอิสลาม มีทั้งแขกจาม (แขกครัว) เข้ามาหลังจากจีน ตั้งบ้านอยู่ริมแม่น้ำตั้งแต่บางกระจะไปทางตะวันตก ผ่านปากคลองคูจามไปถึงปากคลองขุนละคอนไชย (คลองตะเคียน)
และแขกมักกะสัน ตั้งบ้านอยู่ตอนปลายคลองขุนละคอนไชยทางใต้ (ที่จะออกแม่น้ำเจ้าพระยา) ภายหลังมีแขกอาหรับมาปะปนอยู่ด้วย สร้างสุเหร่าขึ้นเป็นศูนย์กลางชุมชนแห่งหนึ่งเรียกว่า “มัสยิดตะเกี่ย”
บ้านโปรตุเกส
โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยา ช่วงพ.ศ. 1998 ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หลังจากที่โปรตุเกสยึดมะละกาได้ ชาวโปรตุเกสร่วมกับไทยช่วยทำศึกสงคราม จนทำให้กองทัพไทยชนะโดยง่าย
เมื่อเสร็จสงครามทรงปูนบำเหน็จความชอบชาวโปรตุเกส ได้พระราชทานที่ดินตำบลบ้านดิน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างใต้กรุงศรีอยุธยา เพื่อให้ชาวโปรตุเกสได้ตั้งบ้านเรือนอยู่และเรียกว่าเป็น ‘บ้านโปรตุเกส’
บ้านสเปน
สเปนเป็นชาวยุโรปชาติที่ 2 ที่เข้าในช่วงพ.ศ. 2140 ทำการส่งทูตเข้ามาในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และได้ทำสัญญาพันธไมตรีและการค้ากับไทย
ต่อมาการค้าของทั้งสองฝ่ายดำเนินไปไม่ได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากสเปนมุ่งเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเขมรและค้าขายกับเขมรมากกว่า
และเรือสำเภาไทยที่ไปทำการค้าที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นอาณานิคมของสเปนในยุคนั้น ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของสเปน พ่อค้าไทยจึงเลิกทำการค้าขายกับสเปน ส่งผลทำให้ไม่หลงเหลือหลักฐานสถานีการค้าและหมู่บ้านในกรุงศรีอยุธยา มีแต่เพียงเอกสารที่บันทึกเอาไว้เท่านั้น
บ้านฮอลันดา
ชาวฮอลันดาเดินทางมากรุงศรีอยุธยาครั้งแรก พ.ศ. 2147 ชาวไทยยินดีทำการค้ากับฮอลันดา โดยเอาหนังสัตว์กับพริกไทยแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ทำด้วยฝ้ายของฮอลันดา
ก่อตั้งเป็นหมู่บ้านฮอลันดาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2177 บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตำบลสวนพลู โดยพระเจ้าปราสาททองพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ตั้งบ้านฮอลันดา เพื่อตอบแทนที่ร่วมรบชนะปัตตานีหลังกรุงศรีอยุธยาแตก เหลือเพียงแค่ซากฐานรากเดิมของคลังสินค้าเดิมสถานีการค้า
ปัจจุบันภายหลังการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของ พระราชินีเบียทริกซ์ (H.M. Queen Beatrix) และมกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์เแลนด์ (H.R.H.the Prince of Orange)
จึงเกิดความร่วมมือระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์ ดำเนินการก่อสร้างอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาที่บริเวณหมู่บ้านฮอลันดาเดิม โดยยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมให้มากที่สุด ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2554
บ้านอังกฤษ
ชาวอังกฤษเข้าสู่สยามประเทศหลังจากฮอลันดา 8 ปี โดยมี ลูกัส เอนทูนิส และกลุ่มพ่อค้าชาวอังกฤษทั้งหมด ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเอกาทศรถ เพื่อถวายพระราชสาสน์ของพระเจ้าเจมส์แห่งอังกฤษ
จึงโปรดอนุญาตให้ชาวอังกฤษมาทำการค้า และพระราชทานบ้านหลังหนึ่งให้เป็นสถานีการค้า แต่ต่อมาถูกชาวฮอลันดากีดกัน การค้าจึงชะงักไปชั่วคราว
พ่อค้าอังกฤษเข้ามาอีกครั้งใน พ.ศ 2217 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงต้อนรับอย่างดี อนุญาตให้พ่อค้าดีบุกซื้อดีบุกตามหัวเมืองปักษ์ใต้ได้สะดวก และนำฝรั่งชาวกรีกเข้ามาคนหนึ่ง
และฝรั่งคนนี้เองเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูต จนกรุงศรีอยุธยาเข้าไปใกล้อันตรายแห่งการเสียอิสรภาพและอธิปไตยยิ่งนัก บุคคลนั้นก็คือ คอนสแตนสติน เยราคีส หรือ คอนสแตนสติน ฟอลคอล ปัจจุบันบริเวณหมู่บ้านอังกฤษแทบไม่มีอะไรหลงเหลือให้เห็น และกลายเป็นที่ตั้งของอู่ซ่อมเรือขนาดใหญ่ในปัจจุบัน
บ้านญี่ปุ่น
ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาตั้งแต่ พ.ศ 2083 ตั้งหมู่บ้านอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถัดจากหมู่บ้านอังกฤษไปทางเกาะเรียน
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราช ใน พ.ศ 2135 มีทหารญี่ปุ่นอาสา 500 คนอยู่ในกองทัพไทยด้วย และผู้บังคับบัญชาทหารอาสาญี่ปุ่นกรมนั้น คือ พระเสนาภิมุข หรือ ยามาดา นางามาซา ต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ออกญาเสนาภิมุข
ปัจจุบันบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่น ถูกสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียน ทางใต้ของหมู่บ้านฮอลันดาและหมู่บ้านอังกฤษ
บ้านฝรั่งเศส
ชาวฝรั่งเศสเข้ามายังสยามเพื่อจุดประสงค์ในการเผยแพร่ศาสนา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนภายหลังเริ่มมีชาวฝรั่งเศสเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงแต่งราชทูตเดินทางโดยเรือสำเภาไปยังฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2223 แต่ได้ประสบพายุอับปางกลางทาง จนในพ.ศ. 2227 จึงได้ส่งไปเป็นครั้งที่ 2 และได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม
ขากลับไทย มีคณะทูตฝรั่งเศสคณะแรกร่วมเดินทางกลับมาด้วย โดยราชทูตคนแรกคือ เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ มี บาทหลวงฟรังซัว ติโมเลออง เดอชัวสี เป็นผู้ช่วย
ได้เชิญพระราชสาสน์จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถวายสมเด็จพระนารายณ์ มีความโอ่อ่า สง่างาม และยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา จัดเป็นกระบวนแห่พยุหยาตราชลมารค
นอกจากนี้ริมน้ำต่อจากบ้านฝรั่งเศสขึ้นไป มีชาวมอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งบ้านเรืออยู่ริมน้ำตั้งแต่ปากคลองขุนละคอนไชยไปจนถึงบ้านป้อม
หวังว่าทุกท่านจะได้รับความรู้ เกี่ยวกับชาวต่างชาติในสมัยกรุงศรีอยุธยาไปไม่มากก็น้อย ช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมละครได้อีกด้วยนะเนี่ย!!
สนับสนุนเนื้อหาโดย อนุสาร อ.ส.ท.
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.