ย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 ทีมนักวิจัยได้ค้นพบซากมัมมี่ขนาดเล็กเพียงแค่ 6 นิ้ว หากมองผิวเผินแล้วคาดว่าเป็นร่างของสิ่งมีชีวิตที่น่าจะมาจากนอกโลก เพราะด้วยขนาดที่เล็กเกินกว่าจะเป็นมนุษย์ทั่วไป แต่แล้วภายหลังก็ได้ค้นพบความจริงอีกด้านหนึ่ง
ผลการศึกษาดีเอ็นเอในกระดูกของร่างมัมมี่ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าเป็นร่างกายของมนุษย์ และเป็นร่างมัมมี่ของเด็กหญิงวัยประมาณ 6 ขวบ ผู้ประสบกับโรคแคระแกร็น
ร่างดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า Ata ค้นพบครั้งแรกในปี 2003 ในภูมิภาคอาตากามา ประเทศชิลี ด้วยรูปร่างกะโหลกศีรษะเรียวยาว และซี่โครงจำนวน 10 คู่ ถูกเก็บเอาไว้ภายในกระเป๋าหนังในโบสถ์ร้างแห่งหนึ่ง
จนกระทั่งร่างมัมมี่ดังกล่าวได้ไปอยู่ในมือนักสะสมชาวสเปน ที่มองว่าเป็นร่างของมนุษย์ต่างดาว และเคยปรากฎอยู่ในสารคดี Sirus ที่ชี้นำว่าเป็นเบาะแสของสิ่งมีชีวิตที่มาจากนอกโลก
หลังจากทำการวิเคราะห์และศึกษาด้านพันธุกรรมยาวนานกว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี 2012 นักวิทยาศาสตร์ทำการสรุปเอาไว้ว่าเป็นผลของการกลายพันธุ์ ที่ส่งผลต่อรูปร่างอันผิดปกติ
การทดสอบทางพันธุกรรมจาก University of California, San Francisco ร่วมกับทีมนักวิจัยจาก Stanford University ได้เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นชิ้นส่วนโครงกระดูกของมนุษย์เพศหญิงที่เสียชีวิตไปเมื่อ 40 ปีก่อน
การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ เผยให้เห็นว่ารูปพรรณดังกล่าว สามารถอธิบายได้จากการกลายพันธุ์ในระดับพันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับความแคระแกร็น รวมไปถึงปัญหาด้านกระดูกและความผิดปกติของการเจริญเติบโต พร้อมกับคาดว่าน่าจะมีอายุเพียง 6 ถึง 8 ปี ในช่วงที่เสียชีวิต
Sanchita Bhattacharya หนึ่งในนักวิจัยของ UCSF กล่าวว่าเธอพบตัวแปรยีนทั้งหมด 64 ชุดในชุดพันธุกรรมของ Ata ซึ่งอาจจะได้รับความเสียหายมาก
โดยใน 10 ตัวแปรยีนนั้นถูกเชื่อมโยงไปสู่ปัญหากระดูก รวมไปถึงปัญหาของขนาดตัวที่สั้นและกระดูกซี่โครง 11 คู่ ส่วนตัวแปรยีนอื่นๆ นั้นชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการผลิตคอลลาเจนในร่างกาย
นอกจากปัญหากระดูกพัฒนาผิดรูปร่างแล้ว อาจจะถูกพ่วงภาวะทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Congenital Diaphragmatic Hernia (กระบังลมไม่พัฒนา ทำให้มีอวัยวะภายในช่องท้องสามารถทะลุไปอยู่ในช่องอก)
ทางด้าน Garry Nolan ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกัน จาก Stanford University School of Medicine ได้เสริมเอาไว้ว่า…
ร่างของ Ata นั้นมีพัฒนาการที่ผิดปกติ จนไม่สามารถกินอาหารได้ ด้วยสภาพร่างกายแบบนี้อาจจะต้องถูกส่งไปยังห้อง ICU ของทารกแรกเกิด แต่ทว่าในยุคสมัยนั้นไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยชีวิตเอาไว้ได้
สำหรับรูปร่างของกะโหลกศีรษะนั้นยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้ ซึ่งทางทีมนักวิจัยคาดว่า เธออาจจะได้รับผลกระทบการการพัฒนาสมองและระบบประสาท และถูกเชื่อมโยงไปยังปัญหาความบกพร่องทางจิต
ที่มา : theguardian, dailymail, news.com.au, telegraph, cbsnews
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.