ความรู้และวิทยาการความก้าวหน้าทางด้านต่างๆ อาจจะถูกมองว่าต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นๆ ในระดับสูง โดยจะสอดคล้องกับอายุของบุคคลเหล่านั้นด้วย ยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีความรู้มาก
แต่ในโลกยุคปัจจุบันกลับสวนทางกับความคิดเดิม เมื่อเรื่องของการประดิษฐ์เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก มีเสียงและพลังเล็กๆ จากกลุ่มคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยที่มีอายุยังไม่ถึง 20 ปีเลยด้วยซ้ำ
Hannah Herbst สาวน้อยวัย 17 ปี นักประดิษฐ์จากรัฐฟลอริดา
ตัวอย่างแรกนั้นก็คือ Hannah Herbst สาวน้อยวัย 17 ปี จากรัฐฟลอริดา เธอได้รับแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์ในช่วงอายุ 15 ปี จากเพื่อนทางจดหมายวัย 9 ปี ในประเทศเอธิโอเปีย
ที่เล่าถึงปัญหาว่าไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ ต้องใช้ชีวิตยามค่ำคืนในความมืดมิด และยิ่งเธอได้รู้ความจริงที่ว่ายังมีประชากรกว่าอีก 1.3 พันล้านคน จากทั่วทั้งโลกที่ไม่มีไฟฟ้าใช้
เธอจึงเริ่มลงมือสร้าง Beacon (Bringing Electricity Access to Countries through Ocean Energy) เครื่องผลิตไฟฟ้าจากคลื่นและกระแสน้ำ สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกได้
โดยที่มนุษย์ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำเป็นจำนวนทั้งหมด 40% ภายในรัศมี 100 กิโลเมตรจากชายฝั่ง และอีก 10% อยู่ห่างจากแหล่งน้ำจืดในระยะเกิน 10 กิโลเมตรขึ้นไป
สำหรับ Beacon จะอาศัยการผลิตไฟฟ้าจากคลื่นและกระแสน้ำ ช่วยหมุนใบพัดที่ติดตั้งอยู่บนตัวอุปกรณ์ และแปลงพลังงานเป็นไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่อีกด้าน
โดยตัวต้นแบบนั้นผลิตขึ้นจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หากนำไปผลิตในขนาดที่ใหญ่ขึ้น จะสามารถชาร์จแบตเตอรี่ให้รถยนต์ได้ 3 คันพร้อมกัน และจะชาร์จได้เต็มภายในเวลา 1 ชั่วโมง
Keiana Cavé นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์จากเมืองนิวออร์ลีนส์
Keiana Cavé เป็นนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ วัย 19 ปี จากเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา เริ่มต้นเส้นทางนักประดิษฐ์จากได้เห็นข่าว น้ำมันรั่วไหลของบริษัท Deepwater Horizon ณ อ่าวเม็กซิโก ปี 2010 เป็นจำนวนมากถึง 4.9 ล้านบาร์เรล เป็นเหตุการณ์น้ำมันปนเปื้อนในทะเลครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
ส่งผลทำให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีรายงานลูกโลมาตายมากกว่าปกติถึง 6 เท่า สัตว์ทะเลมีพัฒนาการพิการ ทั้งกุ้งไม่มีตาและปลามีเนื้องอก
เมื่อทราบข่าวแล้ว Keiana ในวัย 15 ปี จึงทำการค้นหาสาเหตุของปัญหาที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก คาดว่าน่าจะเป็นกระบวนการทางเคมีที่ยังค้นหาไม่พบ จนกระทั่งมารู้ว่ารังสี UV จากดวงอาทิตย์ทำปฏิกิริยากับคราบน้ำมันบนผิวน้ำ กลายมาเป็นสารก่อมะเร็ง
ปัจจุบันเธอได้นำความรู้ทางด้านนี้มาต่อยอดเกิดเป็นผลงานวิจัย 2 ชิ้น และทำการก่อตั้งบริษัท Mare มีเป้าหมายในการพัฒนาวิธีการกำจัดมลพิษในท้องทะเล พร้อมทั้งได้ทุนในการวิจัยเป็นจำนวน 37 ล้านบาท
นักประดิษฐ์รายที่สาม Rifath Shaarook จากอินเดีย
Rifath Shaarook เด็กหนุ่มวัย 18 ปี จากประเทศอินเดีย ได้ทำการสร้างดาวเทียมขนาด 65 กรัม เป็นดาวเทียมที่มีขนาดเล็กและเบาที่สุดในโลก จำลองให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของคาร์บอนไฟเบอร์ ในรูปแบบแม่พิมพ์ 3D พร้อมระบบคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว เซนเซอร์อุณหภูมิ และมาตรวัดความเข้มของสนามแม่เหล็กในอวกาศ
โดยคุณสมบัติของดาวเทียมขนาดเล็กนี้ สามารถอยู่ในอวกาศได้นาน 4 ชั่วโมง และภายในระยะเวลาสั้นๆ แค่ 12 นาที ดาวเทียมจะเริ่มทำการติดตั้งตัวเอง และทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
แรงบันดาลใจแรกของเขานั้นได้มาจากคุณพ่อ ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ โดยที่คุณพ่อมักจะชวนเขาดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เขามีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้ว่าคุณพ่อจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นเอาดีทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และได้เข้าร่วมกับองค์การ Space Kidz India อันเป็นโครงการพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศ
และแล้วเขาก็ได้เป็นผู้นำทีมเยาวชน 6 คน ใช้เวลา 4 ปี เพื่อออกแบบและพัฒนาดาวเทียมขนาดจิ๋วที่ใช้งานได้จริงด้วยชื่อ Kalam SAT เป็นเกียรติแก่อดีตประธานาธิบดีอับดุล กาลาม ผู้บุกเบิกพัฒนาวิทยาการด้านอวกาศของประเทศ
เมื่อผลงานของเขาได้เข้าร่วมพิสูจน์พลังในโครงการ Cubes In Space ของ NASA ที่นำดาวเทียมขนาดจิ๋วของเขาไปใช้งานในห้วงอวกาศ ผลปรากฎว่าสามารถใช้งานได้จริง และจะเป็นแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศในอนาคต
นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์คนที่สี่ Julian Rios Cantu ชาวเม็กซิโก
Julian Rios Cantu ชาวเม็กซิกันในวัย 13 ปี ต้องเห็นคุณแม่ผู้เป็นที่รักรู้สึกเจ็บปวดทรมานจากการเผชิญกับโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งการที่จะหายขาดได้นั้น คุณแม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้าง
ทำให้ตัวของเขาเองและเพื่อนสนิทอีก 3 คน ทำการตั้งบริษัท Higia Technologies เพื่อพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์ สิ่งประดิษฐ์ที่จะมีประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และหญิงสาวทุกคนในอนาคต ด้วยการตรวจจับสัญญาณของมะเร็งเต้านมตั้งแต่อยู่ในระยะแรกเริ่ม
และผลงานชิ้นแรกก็คือ EVA Bra บราพร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับมะเร็งเต้านม โดยจะทำการตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความยืดหยุ่นของเต้านม นำไปเป็นข้อมูลวินิจฉัยผู้สวมใส่ว่า มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งเต้านมมากน้อยแค่ไหน
โดยที่เซ็นเซอร์ตัวดังกล่าวสามารถนำไปติดกับเสื้อชั้นในอื่นๆ ได้ แต่จะต้องสวมใส่บราพร้อมเซ็นเซอร์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เพื่อนำข้อมูลส่งไปยังแอปพลิเคชั่นของบริษัทเพื่อทำการวิเคราะห์ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์จะช่วยประเมินความเสี่ยงของผู้ใช้งานให้
แต่ถึงแม้จะชนะเลิศการประกวดงานประดิษฐ์มา เขาก็ยังไม่สามารถระดมเงินทุนได้มากพอที่จะผลิตออกสู่ท้องตลาด และมีเสียงวิจารณ์ว่าผลงานยังไม่ผ่านการทดสอบระดับคลินิก ซึ่งทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าหากว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ประสบความสำเร็จ อาจจะช่วยชีวิตผู้หญิงหลายล้านคนทั่วโลกเลยล่ะ
ที่มา : businessinsider, bbc, abcnews, maatermakers, kwhs.wharton.upenn.edu, independent, curiosity, business-standard
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.