12 เทคนิคตามหลักการทางจิตวิทยา ที่จะทำให้การใช้ชีวิตง่ายและลงตัวมากยิ่งขึ้น

การใช้ชีวิตในแต่ละวันเรามักจะต้องเจอกับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่คอยมากวนใจ แต่เรากลับไม่รู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไรกับมันดี หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่คิดไม่ตกเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ เราขอแนะนำให้ได้ลองมาอ่านเทคนิคเหล่านี้กันดู

นี่คือเทคนิคตามหลักการทางจิตวิทยาที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราได้ หากอยากรู้ว่าต้องทำอย่างไรแล้วมันจะช่วยในเรื่องไหน ก็จงเลื่อนเมาส์ลงไปอ่านกันได้เลยยย

 

 

1. การลดความตึงเครียด

ถ้าหากว่าเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความกังวลใจอย่างเช่นการออกไปพูดหน้าห้อง หรือการกระโดดบันจี้จัมพ์ การเคี้ยวหมากฝรั่งสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เรากำลังกินอะไรสักอย่าง สมองเราจะสั่งการว่า “เราคงไม่กินในเวลาที่เราตกอยู่ในอันตราย เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจึงไม่ตกอยู่ในอันตราย” นั่นเอง

 

2. การเผชิญหน้า

เวลาที่เราเข้าไปในห้องประชุมแล้วคิดว่ามีคนที่ประสงค์ร้ายกับเราอยู่ ให้เราไปนั่งข้างๆ คนคนนั้นเลย เพราะวิธีการนี้จะทำให้เขารู้สึกกระอักกระอ่วน ไม่กล้าที่จะพูดอะไรแย่ๆ หรือทำร้ายจิตใจเราที่นั่งอยู่ใกล้ขนาดนี้ ลองคิดดูว่าคงไม่มีใครที่จะอยากนั่งข้างๆ กับคนที่เรานินทาอยู่หรอกจริงมั้ย

 

3. การล้วงข้อมูลจากอีกฝ่าย

หากเราต้องการให้เพื่อนบอกอะไรบางอย่างมาก ให้ลองถามเพื่อนไปสัก 1 คำถาม ถ้าหากเพื่อนคนนั้นให้คำตอบแค่กับสิ่งที่เราถามไปเพียงอย่างเดียว ให้เราเงียบแล้วจ้องตาเขากลับไปสักไม่กี่วินาที จากนั้นเดี๋ยวเพื่อนเราก็จะพูดอะไรสักอย่างขึ้นมาเอง อาจดูกวนประสาทไปบ้าง แต่มันได้ผลจริงๆ

 

 

4. การสร้างแรงดึงดูด

ในบ้านเรามักจะไม่ได้ใช้การจับมือทักทาย แต่หากเรามีโอกาสได้จับมือกับใครสักคน เราควรจะต้องทำให้มือของเราอบอุ่นเข้าไว้ดีกว่าการยื่นมือเย็นๆ ไปจับ และหากเราได้เจอกับใครคนหนึ่งเป็นครั้งแรก การที่เราลอกเลียนแบบลักษณะท่าทางของฝ่ายตรงข้ามอย่างแนบเนียน จะช่วยสร้างความเชื่อใจและทำให้เขาคิดว่าเราสองคนดูเหมาะสมกัน

 

5. การลบล้างบางสิ่งที่ฝังอยู่ในหัว

หลายๆ คนอาจมีเพลงที่ติดอยู่ไม่สามารถเอาออกไปจากหัวสมองของตัวเองได้เลย วิธีแก้คือให้เราคิดถึงตอนจบของเพลงนั้น เพราะตามหลัก Zeigarnik effect อธิบายไว้ว่าจิตใจของเรามักจะคิดถึงแต่เรื่องที่ไม่มีตอนจบ ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการคิดถึงท่อนจบของเพลงจึงช่วยหยุดวงเวียนความคิดนั้นของเราได้

 

6. ต้องการให้คนรอบข้างเห็นด้วย

เมื่อไหร่ที่เราถามคำถามแล้วต้องการให้คนรอบข้างเห็นด้วย ให้เราพยักหน้าไปสักหนึ่งครั้งในระหว่างนั้น การกระทำนี้จะช่วยให้อีกฝ่ายเริ่มคิดว่าเรื่องที่เราพูดไปมันคงจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วตัวเขาก็ควรที่จะพยักหน้าเห็นด้วยตามเราไป

 

 

7. การเช็กว่ามีคนแอบจับตามองเราอยู่หรือไม่

หากรู้สึกเหมือนว่ามีคนบางคนกำลังมองเราอยู่แต่ยังไม่แน่ใจ ให้เราพยายามหาวออกมาแล้วหันไปจ้องคนที่เราสงสัย ถ้าคนคนนั้นหาวออกมาเหมือนกัน แสดงว่าเขากำลังแอบจับตามองเราอยู่ เพราะการหาวคืออาการที่ติดต่อกันได้ผ่านการมองเห็น

 

8. การมองหาหนทางสัญจร

เมื่อไหร่ที่เราต้องเจอกับการสัญจรที่แออัด ตามสถานีรถไฟฟ้าหรือสนามบิน ให้เราจ้องมองไปยังเป้าหมายที่เราจะไป แล้วเราจะเห็นว่าคนรอบข้างจะแหวกทางเดินให้เราเอง เพราะในตอนที่มีผู้คนเดินไปมากันเยอะๆ คนส่วนใหญ่มักจะสังเกตดวงตาของคนอื่นๆ ว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องการไปทางไหน แล้วตัวเราจะเป็นคนหลบไปอีกทางกับคนคนนั้นเอง

 

9. เทคนิคการมอบตัวเลือก

ยกตัวอย่างเด็กที่ไม่ชอบกินบรอคโคลี่ ให้เราถามพวกเขาว่า “อยากจะกินบรอคโคลี่ 2 ชิ้นหรือว่า 5 ชิ้น?” แทนที่จะถามพวกเขาว่า “อยากกินบรอคโคลี่หรือเปล่า?” เพราะการที่เรามอบตัวเลือกให้กับเด็กคนนั้นอย่างชัดเจน จะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดด้วยตนเอง ลองปรับเปลี่ยนวิธีการนี้ไปใช้กับเรื่องอื่นๆ กันดูนะ

 

 

10. วิธีได้รับความช่วยเหลืออย่างแนบเนียน

ถ้าหากคุณอยากให้เพื่อนถือของให้กับคุณ ให้เราชวนเขาคุยไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นจึงค่อยยื่นของไปให้แบบเนียนๆ วิธีการนี้ทำให้คนส่วนใหญ่รับของเราไปโดยไม่ได้คิดอะไร แต่บางคนก็อาจจะงงๆ ว่าเราทำอะไรอยู่

 

11. วิธีการทำให้คนรอบข้างรู้สึกจริงจังกับสิ่งที่เราพูด

หากเราอยากให้คนอื่นๆ รู้สึกจริงจังกับคำพูดของเรา ให้เราบอกพวกเขาไปว่าเรื่องที่พูดมานั้นเป็นสิ่งที่พ่อสอนเรามา เพราะลึกๆ แล้วคนส่วนใหญ่จะเชื่อในคำแนะนำของคนเป็นพ่อ

 

12. วิธีการทำให้เพื่อนมีคำพูดติดปาก

หากเรารู้สึกชอบคำไหนของเพื่อน ในตอนที่เราคุยกันให้เรายิ้ม พยักหน้า หรือแสดงลักษณะท่าทางในแง่บวกออกไป ทุกครั้งที่เขาพูดคำนั้นออกมา หลังจากนั้นสังเกตดูว่าเราจะได้ยินคำพูดนั้นออกมาบ่อยๆ

 

 

อ่านจบแล้วเพื่อนๆ สามารถลองเอาไปทำตามกันดูได้เลยนะ หวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะช่วยทำให้ทุกคนมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

 

ที่มา: thechive

Comments

Leave a Reply