จริงหรือไม่? จุมพิตจากเจ้าชายสามารถช่วยสโนว์ไวท์ได้หรือ? มาวิเคราะห์กันเถอะ

สำหรับใครหลายๆ คนนั้น ชีวิตเจ้าหญิงดิสนีย์ที่ได้แต่งงานกับเจ้าชายรูปงามก็คงเป็นความฝันที่มีมาตั้งแต่เด็กๆ แต่สำหรับใครบางคนนั้น (รวมไปถึง #เหมียวฝึกหัด) การได้ทำลายความฝันในวัยเด็กถือว่าเป็นเรื่องที่สนุกมากเลยทีเดียว อุว่ะฮ่าฮ่าฮร่า.. (หัวเราะอย่างชั่วร้าย)

และเรื่องที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้ก็คือการ์ตูนอนิเมชันที่เก่าแก่ที่สุดของทางดิสนีย์อย่างเรื่อง Snow White and the Seven Dwarfs ที่ฉายครั้งแรกเมื่อปี 1937 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวที่ถูกวางยาพิษด้วยแอปเปิลต้องสาป ทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราเป็นเวลานาน จนกระทั่งคำสาปนั้นถูกทำลายโดยการจุมพิตจากเจ้าชาย

 

 

ซึ่งคำถามที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือ เป็นไปได้ไหมที่จะทำยาพิษที่ออกฤทธิ์ในลักษณะเดียวกันกับที่เราเห็นในการ์ตูน? และ การจุมพิตนั้นสามารถช่วยให้คำสาปจากยาพิษหายไปได้อย่างไร?

อย่างที่เราได้เห็นในการ์ตูนก็พบว่ายาพิษนั้นได้เคลือบอยู่ที่ผิวของแอปเปิล เมื่อสโนว์ไวท์กัดเข้าไป เธอก็พูดออกมาว่ารู้สึกแปลกๆ และหลังจากนั้นเธอก็ล้มลงไปและเข้าสู่อาการโคม่า ซึ่งก็ไม่ได้บอกอาการที่แน่ชัดมากมายนัก ทำให้ยากที่จะวินิจฉัยยาพิษที่ใช้ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้

 

.

 

จากการวิเคราะห์ระยะเวลาว่าสโนว์ไวท์หมดสติเร็วขนาดไหน ยาพิษผู้ต้องสงสัยตัวแรกก็คือ Cyanide ซึ่งเป็นสารพิษที่เข้มข้นมาก หากใช้เพียงแค่ขนาดเท่ายาพาราครึ่งเม็ดก็สามารถฆ่าคนที่มีน้ำหนัก 90 กิโลกรัมได้สบายๆ เป็นยาพิษยอดนิยมสำหรับเหล่าสายลับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยปกติแล้วสาร Cyanide สามารถพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ อย่างเช่นในเม็ดถั่วอัลมอนด์ หรือในเมล็ดของแอปเปิล แต่การที่จะสกัดสาร Cyanide ออกมานั้นจะต้องใช้กระบวนการทางเคมี ซึ่งในยุคของสโนว์ไวท์เป็นยุคก่อนที่จะมีกระแสไฟฟ้าใช้เสียอีก

 

 

นอกจากนั้นฤทธิ์ของ Cyanide นั้นทำให้สมองตายภายในไม่กี่วินาที ถึงแม้จะตรงตามอาการที่เกิดขึ้นในการ์ตูน แต่แม่นางสโนว์ไวท์ก็คงไม่มีทางฟื้นแน่นอน แม้ว่าเจ้าชายจะจูบเธอเป็นร้อยๆ ครั้งก็ตาม ทำให้สาร Cyanide ถูกขีดฆ่าออกจากรายชื่อยาพิษที่กำลังตามหา

สารพิษผู้ท้าชิงตัวถัดมานั้นก็คือซอมบี้ แต่ว่าไม่ใช่ผีซอมบี้แบบที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์หรือซีรีส์ The Walking Dead ที่เป็นซากศพวิ่งไล่กินสมองมนุษย์ แต่เป็นการทำซอมบี้ที่มีจริงๆ ในโลกของเรา ซึ่งก็คือพิธีกรรมวูดูซอมบี้ของชาวเฮติ

 

 

ในปี 1985 มีหนังสือชื่อ The Serpent and the Rainbow ที่เขียนโดย Wade Davis ได้ศึกษาเกี่ยวกับคนไข้จากพิธีกรรมวูดูของชาวเฮติ ซึ่งใช้วิธีการที่เรียกว่า Bokor เป็นการนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายให้เกิดอาการโคม่าและนำไปฝัง เมื่อสารพิษหมดฤทธิ์ก็จะฟื้นขึ้นมาจากอาการโคม่า

ซึ่งสารพิษที่พวกเขาใช้ก็คือ Tetrodotoxin เป็นสารพิษรุนแรงที่ส่งผลต่อระบบประสาทซึ่งมีฤทธิ์หลักๆ คือทำให้หมดสติ ที่มาของสารพิษนี้ก็คือปลาปักเป้าที่เป็นปลามีพิษร้ายแรง

 

 

ฤทธิ์ของสารพิษชนิดนี้ตรงกับอาการของสโนว์ไวท์อย่างที่พวกเราได้เห็นเป๊ะๆ แต่ปัญหาอย่างเดียวก็คือภูมิประเทศ ซึ่งปลาปักเป้านั้นพบได้ทั่วไปตามเขตร้อน แต่สโนว์ไวท์นั้นอาศัยอยู่ในแถบเยอรมนีทางใต้ อ้างอิงจากลักษณะของสิ่งปลูกสร้าง ประเภทของสัตว์ที่พบเจอในเรื่อง และเนื้อเรื่องอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโซนเดียวกัน

ซึ่งการที่จะเคลื่อนย้ายหรือส่งออกปลาปักเป้าด้วยระยะทางที่ไกลขนาดนั้นคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากๆ ในยุคนั้น ดังนั้นสารพิษ Tetrodotoxin จากปลาปักเป้าจึงเป็นไปไม่ได้ที่ราชินีขี้อิจฉาจะนำมาใช้

 

 

ราชินีจึงต้องหายาพิษที่ออกฤทธิ์ไว มีฤทธิ์ที่รุนแรง แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดที่ว่าไม่สามารถฟื้นขึ้นมาจากอาการโคม่าได้ และต้องพบเจอได้ในธรรมชาติ เพราะราชินีจอมชั่วร้ายนั้นไม่มีอุปกรณ์ทางเคมีที่จะใช้สกัดสารพิษได้ ถึงจะฟังดูเป็นไปไม่ได้ แต่ว่ายาพิษนั้นมีจริงๆ

รู้จักกับ Atropa Belladonna หรือที่เรียกกันว่า Deadly Nightshade ที่มีผลเป็นเบอร์รี่ลักษณะสีเงาดำน่ารับประทาน แต่ว่ามีพิษที่ร้ายแรง ถ้าหากทานเข้าไป 10-20 ผล จะทำให้คนวัยผู้ใหญ่เสียชีวิตได้ทันที

 

 

เมื่อพิจารณาจากขนาด รูปร่างและอายุของสโนว์ไวท์นั้น การกัดแอปเปิลที่ผิวเคลือบด้วยยาพิษจาก Deadly Nightshade ก็คงเพียงพอที่จะทำให้เธอหมดสติ แต่ว่าไม่ถึงขั้นเสียชีวิต

ซึ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า Deadly Nightshade สามารถทำให้ผู้ที่ทานเกิดอาการโคม่าได้จริงๆ หรือไม่? คำตอบก็คือได้แน่นอน เพราะเคยมีการทดลองฤทธิ์ของสารพิษนี้ ซึ่งทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดอาการเห็นภาพหลอน และทำให้ง่วงนอน ซึ่งตรงกับอาการที่เกิดขึ้นกับสโนว์ไวท์ทุกอาการ

 

 

และมีคำถามต่อมาว่าสารพิษนั้นมีรสชาติอย่างไร? เพราะถ้าแอปเปิลที่เคลือบด้วยสารพิษนั้นมีรสชาติที่ขมนั้นโดยสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว สโนว์ไวท์จะต้องคายออกมาแน่ๆ แต่จากการศึกษาพบว่าผล Deadly Nightshade นั้นมีรสชาติที่ค่อนข้างอร่อย มีรสหวานเหมือนกับผลเบอร์รี่ทั่วไป

โดยปกติแล้ว Deadly Nightshade มักพบอยู่ในแถบทวีปยุโรปทางตอนใต้ รวมไปถึงประเทศเยอรมนีตอนใต้ และเป็นยาพิษยอดนิยมในยุคนั้น

ในช่วงศตวรรษที่ 17 พระเจ้า Macbeth แห่งสกอตแลนด์ได้ใช้ยาพิษจาก Deadly Nightshade ในการต่อต้านกองทัพชาวเดนส์ที่มาบุกรุก และเป็นที่เชื่อกันว่ายาพิษชนิดนี้เป็นยาพิษที่ใช้สังหารจักรพรรดิ Claudius แห่งจักรวรรดิโรมัน

 

 

จากหลักฐานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอาการจากยาพิษ รสชาติ แถบที่พบในภูมิประเทศนั้นทำให้สามารถชี้ตัวยาพิษผู้ร้ายที่เคลือบอยู่ที่แอปเปิลของสโนว์ไวท์ได้ ซึ่งก็คือ Atropa Belladonna หรือ Deadly Nightshade นั่นเอง

แต่ยังไม่จบแค่นั้น เพราะยังมีอีกหนึ่งคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจ และเป็นคำถามที่ทุกคนคงจะตั้งตาเฝ้ารอคอยดูคำตอบว่า ถ้าสโนว์ไวท์ที่โดนยาพิษร้ายแรงจนอยู่ในอาการโคม่า จะสามารถฟื้นได้จากการจุมพิตของเจ้าชายด้วยรักแท้ได้หรือไม่?

 

 

ต้องกราบขอโทษแฟนๆ หรือคนที่ชื่นชอบการ์ตูนสโนว์ไวท์ตั้งแต่วัยเด็กที่ #เหมียวฝึกหัด ได้ทำลายความฝันของพวกคุณลงไป เพราะคำตอบนั้นก็คือ “ไม่” แน่นอนอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งเดียวที่เจ้าชายจะได้รับจากการจุมพิตอย่างเดียวก็คือเชื้อโรคจากศพเท่านั้น

แต่สิ่งที่ทำให้สโนว์ไวท์รอดจากอาการโคม่านั้นไม่ใช่รักแท้ แต่เป็นกระบวนการทางเคมีต่างหาก พิษจาก Atropa Belladonna มียาต้านพิษเพียงไม่กี่อย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือถ่านกัมมันต์ หรือผงถ่านทั่วไปที่ช่วยดูดซึมสารพิษในร่างกายจนหมด

 

 

แม้ว่าในขณะที่เธอนอนเป็นผักจากอาการโคม่า เธอจะไม่ได้กินยาหรือถ่ายกัมมันต์ลงไป แต่ความจริงแล้วเธอได้รับถ่านกัมมันต์เข้าไปในร่างกายตั้งแต่ตอนที่เข้าป่ามาพบกับคนแคระทั้ง 7 แล้ว

จำได้ไหมว่างานของเหล่าคนแคระนั้นก็คือการขุดเหมืองเพชร ซึ่งเพชรนั้นก็คือคาร์บอนหรือถ่านที่มีอนุภาคอัดแน่นจนกลายเป็นเพชร และเหล่าคนแคระที่กลับมาบ้านมักจะมีเนื้อตัวสกปรกอยู่เสมอจนทำให้สไนวไวท์ต้องไล่พวกเขาไปล้างมือก่อนที่จะรับประทานอาหาร และในขณะที่เธอทำความสะอาดบ้าน เธอก็หายใจรับฝุ่นผงถ่านเข้ามาในร่างกายตลอดเวลา

 

 

ถ่านกัมมันต์ที่มีอยู่ในร่างกายของเธอก็ค่อยๆ ดูดซึมสารพิษในร่างกายเรื่อยๆ จนหมด ทำให้เธอฟื้นขึ้นมาจากอาการโคม่า

ดังนั้นคนที่ช่วยชีวิตสโนว์ไวท์จริงๆ แล้วไม่ใช่จากการจุมพิตของเจ้าชายรูปงามที่อาจเป็นโรคจิตประเภท Necrophilia ที่ชื่นชอบในการร่วมรักกับศพ แต่เป็นคนแคระทั้ง 7 ที่แสนซื่อสัตย์ต่างหาก

 

 

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นแค่การวิเคราะห์เพียงเท่านั้น อาจไม่เป็นความจริงทุกประการแต่อย่างใด เพราะอย่างไรก็ตาม Snow White and the Seven Dwarfs ก็เป็นแค่การ์ตูนอนิเมชันที่เนื้อเรื่องถูกสมมติขึ้นมา

ที่มา Thefilmtheorists

Comments

Leave a Reply