หลังจากที่ได้รับชมละครบุพเพสันนิวาส หลายคนอาจจะสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า แม้ “ฟอลคอน” ซึ่งในประวัติศาสตร์ได้รับการบันทึกไว้ว่าไม่ค่อยชอบหน้ากันกับ “เจ้าพระยาโกษา(ปาน)” เท่าไรนัก
แต่เหตุให้เขาจึงเสนอชื่อให้ “เจ้าพระยาโกษา(ปาน)” ได้เป็นหัวหน้าทูตในการเดินทางไปสร้างสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหน้าที่อันสำคัญซะได้
เพื่อเป็นการกลั่นแกล้งงั้นหรือ!?
ชาวเน็ตได้มาตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์พันทิป และในโลกออนไลน์หลายแห่ง โดยมีผู้มาตอบคำถามในเชิงที่ว่าหรือนี่จะเป็นการกลั่นแกล้งจากฟอลคอน ด้วยเหตุที่ว่า
– ทูตสมัยก่อนเดินทางลำบาก ต้องเดินทางจากอยุธยาไปจนถึงฝรั่งเศสนับแรมเดือน
– เป็นการกีดกันพระยาโกษาปานจากส่วนกลาง ทำให้เขาอยู่ไกลเมืองจะได้หมดอำนาจ
– หรือแย่กว่านั้นคือประสบอุบัติเหตุ โรคภัยกลางทาง หรืออาจจะไม่ได้กลับมายังอยุธยาอีกเลย
แต่ประเด็นดังกล่าวดูเหมือนจะถูกตีตกไป เมื่อมีข้อมูลจากชาวเน็ตท่านหนึ่ง คุณศรีสรรเพชญ์ ซึ่งมาให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในประเด็นดังกล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจ
เพราะความกตัญญู และความรักต่อพระยาโกษาเหล็ก
โดยเขาระบุว่า ฟอลคอนนั้นจงรักภักดีกับเจ้าพระยาโกษา(เหล็ก) อย่างมาก การเสียชีวิตของท่านทำให้เขาเสียใจสุดซึ้ง เพราะเขาได้มีวันนี้ก็เพราะท่าน
ซึ่งแม้ท่านตายไปแล้ว ก็ยังรับปากคำสัญญาที่ว่าจะดูแลครอบครัวท่านให้ดี
“ถ้าอ้างอิงตามหลักฐานของบาทหลวง เดอ แบส ที่มีความใกล้ชิดกับฟอลคอน ระบุว่าก่อนที่โกษาเหล็กจะถึงแก่อนิจกรรม ได้ฝากฝังครอบครัวของท่านให้ฟอลคอนช่วยอุปถัมภ์ ฟอลคอนก็รับปากโกษาเหล็กซึ่งเป็นผู้มีพระคุณมาแต่ก่อน
“มร. ก็องสตังซ์น้ำตาไหลพรากที่ต้องมาสูญเสียบุคคลสำคัญซึ่งเขารักประดุจบิดาไป เขาสัญญาว่าจะไม่ลืมพระคุณของท่านเลย และมาตรว่าเขาได้รับพระอนุเคราห์สถานไรจากองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็จะแบ่งสันปันส่วนให้แก่ญาติพี่น้องของท่านพระยาพระคลังโดยทั่วหน้า”
พอโกษาเหล็กถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ทรัพย์สินที่เป็นมรดกของท่านต้องถูกส่งคืนให้หลวง แต่ด้วยความที่มรดกของท่านมีจำนวนมหาศาล
ทั้งคุณหญิงภรรยาและโกษาปานเกิดเสียดาย เลยแอบเก็บไว้บางส่วนแต่ถูกจับได้และบังคับให้ถวายทรัพย์สินคือหลวง ทำให้โกษาปานไม่ได้รับความโปรดปรานจากสมเด็จพระนารายณ์อีกต่อไป
เดอ แบสอ้างว่า ฟอลคอนเป็นคนช่วยให้โกษาปานได้กลับมาเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์อีกครั้งตามสัญญาที่ให้กับโกษาเหล็กว่าเขาจะช่วยดูแลครอบครัวของท่าน นอกจากนี้ยังช่วยอุดหนุนให้เป็นราชทูตไปฝรั่งเศสด้วยครับ”
นอกจากนี้ หลักฐานอื่นก็บ่งชี้ว่าโกษาปานเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นราชทูต เนื่องจากเป็นลูกพระนมจึงเป็นขุนนางที่ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัว ได้รับราชการกรมคลังในบังคับโกษาเหล็กผู้เป็นเสนาบดีมาหลายปี จึงน่าเชื่อว่าท่านมีความรู้และชำนาญในการต่างประเทศ
ความจริงการเลือกราชทูตครั้งนี้เป็นการใหญ่ ไม่น่าจะมาจากเพราะฟอลคอนเสนอแต่คนเดียว แต่สมเด็จพระนารายณ์ก็น่าจะเป็นผู้ตัดสินพระทัยและทรงเห็นชอบด้วย ทำให้โกษาปานได้เป็นราชทูตในที่สุด
และเมื่อพิจารณาจากกิตติศัพท์ที่ชาวฝรั่งเศสเขียนถึงโกษาปานว่าเป็นผู้เจรจาไพเราะ มีวาทศิลป์คมคาย วางตัวได้ดีสุภาพอ่อนน้อมจนได้รับการยกย่องอย่างมาก ก็นับว่าเลือกไม่ผิดครับ
ถ้าตามบันทึกนี้ จะบอกว่าฟอลคอนมีความรักและสำนึกบุญคุณต่อโกษาเหล็กก็ไม่ผิดนัก และยังตอบแทนท่านด้วยการให้คนในครอบครัวของท่าน กลับมาเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์อีกครั้ง
เราหลายๆ คนอาจจะมองว่าฟอลคอนเป็นคนไม่ดี เป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย เราคนรุ่นหลังอาจจะมองว่าเขาผิดในหลายด้าน แต่หากมองให้รอบด้านแล้ว เขาก็มีด้านที่ดีในบางอย่างด้วยเช่นกัน
เพราะคนเราไม่มีใครขาวบริสุทธิ์หรือดำสนิท เราต่างก็เป็นมนุษย์สีเทาด้วยกันแทบทั้งสิ้น…
ที่มา: ศรีสรรเพชญ์
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.