เชื่อว่าผู้เป็นแม่ย่อมรักลูกของตัวเองอย่างสุดหัวใจ ไม่ว่าลูกของตนเองจะเป็นแบบไหน มีสภาพเป็นอย่างไร เพราะนั่นคือดวงใจของแม่อีกหนึ่งดวงที่ไม่อาจทำร้ายได้เลย…
แต่ว่าในโลกยุคปัจจุบันที่มีอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงแล้ว การวิจารณ์คนอื่นจากหลังคีย์บอร์ดจึงเกิดขึ้นทั่วทุกสังคม มีการนำรูปภาพของบุคคลอื่นหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและไม่ให้เกียรติอย่างสนุกมือ และน้อง Sophia วัย 9 ขวบก็คือหนึ่งในเหยื่อของกลุ่มคนเหล่านี้
Sophia เกิดมาพร้อมกับการพัฒนาใบหน้าที่ผิดปกติ รวมไปถึงทั้งมือและเท้า เมื่อเธอมีอายุครบได้ 1 ขวบ เธอก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการเรตต์ ความผิดปกติทางสมองที่ส่งผลต่อด้านพัฒนาการภาษาและการเคลื่อนไหวของเด็ก นั่นจึงทำให้น้องต้องได้รับการดูแลจากครอบครัวตลอด 24 ชั่วโมง
“เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 22 ครั้ง ให้อาหารผ่านทางสาย ถ่ายผ่านถุงอุจจาระ เธอมีอาการช็อกบ่อยครั้งเนื่องจากพัฒนาการที่ผิดปกติ และโรคเรตต์” Natalie Weaver ผู้เป็นแม่ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าว CNN
ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่เรื่องราวของ Sophia ถูกเปิดเผยไปในวงที่กว้างมากขึ้น คุณแม่พยายามอธิบายให้ผู้คนเข้าใจถึงอาการของลูกสาวของเธอ แต่ไม่นานนักเหล่านักเลงคีย์บอร์ดก็เริ่มพุ่งเป้ามาที่ลูกสาวของเธอ
“ผู้คนมักจะตามหาคุณและทำร้ายคุณ พวกเขาจะหาหนทางแสดงความโหดเหี้ยมอยู่เสมอ และฉันมักจะเจอคนที่แนะนำว่าให้ฆ่าลูกของฉันซะ ทำให้เธอไปสบายเสียที”
หนึ่งในผู้ไม่หวังดีที่อยากจะสร้างกระแสร้าย ไม่เพียงแค่แชร์รูปภาพของน้อง Sophia แต่ยังเพิ่มข้อความเพื่อสนับสนุนการทำแท้ง แถมแท็กทวิตเตอร์ของคุณแม่พร้อมส่งข้อความส่วนตัวไปถึงตัวเธอเลย…
“ฉันทำได้เพียงแค่บล็อกมันไป หวังว่ามันจะหายไป แต่มันไม่เคยถูกลบเลย” แม้ว่าคุณแม่จะพยายามร้องเรียนต่อทวิตเตอร์แล้วก็ตาม แต่พวกเขากลับมองว่าการกระทำนั้นไม่ได้ละเมิดกฎการใช้งานของทางทวิตเตอร์แต่อย่างใด
ตัวอย่างของข้อความปลุกปั่นความเกลียดชัง ที่มีต่อผู้บกพร่องและผู้พิการ
เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ทวีตข้อความและภาพดังกล่าวยังคงอยู่ และบัญชีที่ปลุกปั่นให้ร้ายยังคงมีชีวิต มันยังคงตามหลอกหลอนคุณแม่อยู่เสมอ เธอพยายามขอร้องให้ผู้คนช่วยกันรีพอร์ตข้อความนั้น และพยายามเล่าเรื่องราวที่แท้จริงผ่านรายการข่าวท้องถิ่น โดยหวังว่าจะช่วยกดดันให้ทวิตเตอร์ทำในสิ่งที่ถูกต้อง…
หลังจากความพยายามของคุณแม่ในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ครึ่ง จากการที่ถูกแอบนำภาพของลูกสาวไปใช้และถูกว่าร้ายอย่างต่อเนื่อง เธอก็ได้รับข้อความจากทวิตเตอร์ พวกเขาขอโทษเธอ และทำการลบทวีตดังกล่าวออกไป พร้อมกับระงับบัญชีต้นเรื่องแล้ว
ด้วยความพอใจกับผลลัพธ์ที่คุณแม่หวัง เธอจึงเริ่มแนะนำแนวทางให้กับทวิตเตอร์เพื่อตรวจสอบเนื้อหาที่อยู่บนโลกออนไลน์ไว้ว่า “ทวิตเตอร์ควรจะเพิ่มหมวดหมู่การละเมิดสิทธิ์ของผู้พิการไว้ด้วย ไม่อย่างนั้นผู้ใช้ก็จะไม่รู้ว่าจะเลือกหมวดหมู่ไหนในการรีพอร์ตเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิ์ผู้พิการ”
ทางด้านโฆษกของทวิตเตอร์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า “คุณไม่สามารถส่งเสริมความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะทั้งเชื้อชาติ เพศสภาพ ศาสนา อายุ ความบกพร่อง หรือโรคร้ายใดๆ และเราจะนำสิ่งเหล่านี้มาร่วมพิจารณา ต่อการรายงานละเมิดกฎใช้งานของทวิตเตอร์ทั้งหมด”
ที่มา: cnn, boredpanda
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.