ถ้าเกาหลีเหนือ-ใต้รวมกันจะเป็นอย่างไร?…ย้อนกลับไปดูตอนเยอรมนีรวมชาติ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

จากกรณีที่มีข่าวว่าประเทศเกาหลีใต้และประเทศเกาหลีเหนือ กำลังจะจบสงครามที่ยาวนานกว่า 68 ปี ก็มีสื่ออีกหลายสำนักมองไกลไปถึงเรื่องของ ‘การรวมประเทศ’ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลา

 

ภาพธงชาติเกาหลีเหนือ-ใต้ ที่ทำขึ้นมาในงานโอลิมปิกฤดูหนาว ที่นักกีฬาของทั้งสองประเทศโบกตอนเดินลงสนามร่วมกัน

 

เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ก็เลยทำให้ #เหมียวหง่าว นึกย้อนไปถึง ‘การรวมประเทศ’ ของประเทศเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออก ที่เคยแยกประเทศกันไปเมื่อปี 1949 เพราะผลกระทบจากสงครามโลก

เนื่องจากว่าองค์ประกอบทุกอย่างมันช่างคล้ายคลึงกันเสียเหลือเกิน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าหากเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้รวมประเทศกันขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะประสบความสำเร็จและกลายมาเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลกอย่างเยอรมนีก็เป็นได้

#เหมียวหง่าว ก็เลยจะนำเรื่องราวการรวมประเทศของเยอรมนีตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออกมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

ก่อนจะกล่าวถึง ‘การรวมประเทศ’ ของเยอรมนี ก็ต้องขอย้อนกลับไปเล่าเรื่องของ ‘การแยกประเทศ’ กันก่อนก็แล้วกันนะครับเพื่อความเข้าใจเหตุการณ์อย่างถ่องแท้

 

 

ย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงเมื่อปี 1945 ฝ่ายอักษะที่นำโดยเยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สองประเทศยักษ์ใหญ่ในขณะนั้นอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นผู้ชนะสงครามได้พยายามขยายอิทธิพลของตนเองเข้าสู่ประเทศเยอรมันนี

ด้วยความไม่ลงรอยนี้ เยอรมันนีจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนในปี 1949 ซึ่งก็คือ Federal Republic of Germany (FRG) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเยอรมนีตะวันตก ฝั่งนี้จะถูกปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย

ส่วนอีกด้านก็คือ German Democratic Republic (GDR) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเยอรมนีตะวันออก ส่วนฝั่งนี้จะถูกปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์

 

 

ในระหว่างนั้นก็มีการอพยพเกิดขึ้นจากฝั่งตะวันออกไปยังตะวันตก เนื่องจากว่าคุณภาพชีวิตของฝั่งตะวันตกนั้นดีกว่ามาก ทั้งอิสรภาพ ระบบเศรษฐกิจ

จนทำให้รัฐบาลเยอรมนีฝั่งตะวันออกสร้างกำแพงที่ชื่อว่า ‘กำแพงเบอร์ลิน’ ขึ้นมาเมื่อปี 1961 เพื่อกั้นการส่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากทางฝั่งตะวันตก รวมไปถึงการอพยพของประชากรอีกด้วย

เจ้ากำแพงเบอร์ลินนี้ถูกใช้งานเป็นระยะเวลานานกว่า 28 ปี ก่อนจะถูกทลายลงในปี 1989 เนื่องจากในปีนั้นประธานาธิบดีของรัสเซีย มีฮาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งเป็นผู้นำของสหภาพโซเวีต ได้มีการทดลองปฏิรูปการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันในเยอรมนีตะวันออกก็มีการชุมนุมประท้วงใหญ่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในเมือง โสต์ดัม ไลฟ์ซิจ และเดรสเดน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 1989 และการประท้วงก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลของเยอรมนีตะวันออกได้รับความกดดันเป็นอย่างมาก

 

 

จนกระทั่งในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ก็มีการประกาศว่าจะเปิดพรมแดนให้ชาวเยอรมันสามารถเดินผ่านดินแดนได้อย่างอิสระ และในวันดังกล่าวมีชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากมารวมตัวกัน ณ กำแพงเบอร์ลิน แล้วก็เดินข้ามพรมแดนไป

ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี ที่ชาวเยอรมันตะวันตกสามารถเดินข้ามพรมแดนไปได้อย่าง “เป็นอิสระ” จึงยกให้วันนั้นเป็นวันล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่การรวมประเทศในปี 1990

การรวมประเทศของเยอรมนีนั้นต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลกว่า 1.6 พันล้านยูโร (ประมาณ 61,871 ล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของฝั่งเยอรมีตะวันออก

 

 

ในช่วง 2 ปีแรกของการรวมประเทศ เกิดปัญหาระบบเศรษฐกิจของเยอรมนีตะวันออกล้มละลายอย่างไม่มีมาตรการใดที่จะหยุดยั้งไว้ได้

ซึ่งมีสาเหตุมาจากการออกสู่การแข่งขันทางการตลาดในระบบ ‘เสรีนิยม’ โดยที่ยังมีการเตรียมความพร้อมน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จนเป็นเหตุให้เยอรมนีตะวันออกสูญเสียผลการผลิตไปถึง 80%

แต่เยอรมนีตะวันออกก็สามารถรอดชีวิตมาได้ด้วยการช่วยเหลือจากเยอรมนีตะวันตก ทั้งทางด้านการเงิน การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคใหม่ทั้งหมด การลงทุนทางภาคธุรกิจ จนค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา จนเมื่อไม่นานนี้ต้นทุนการผลิตของฝั่งตะวันออกมีมูลค่าเทียบเคียงกับฝั่งตะวันตกได้แล้ว

แต่ในอีกหลายๆ ด้านฝั่งตะวันออกก็ยังคงตามหลังฝั่งตะวันตกอยู่ เช่น ระดับค่าจ้าง และสวัสดิการหลังเกษียณ ซึ่งตรงจุดนี้อาจยังต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึึ่งกว่าจะขยับขึ้นมาเท่าเทียมกันได้ทั้งหมด

 

 

แน่นอนว่าหากประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จะรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็อาจจะต้องยอมรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย

เพราะนอกจากเกาหลีเหนือจะเป็นประเทศปิดมาโดยตลอดจะต้องทำการเปิดประเทศเพื่อรับการบริหารแบบเสรีนิยมแล้ว เกาหลีใต้ในฐานะที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมแบบเสรีนิยมมาก่อนก็จะต้องแบกรับกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแบบเยอรมนีตะวันออกด้วยเช่นกัน

หากพวกเขาเตรียมพร้อมได้ไม่ดีพอ ก็อาจเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับ “หายนะ” ขึ้นในประเทศเกาหลีทั้งสองก็เป็นได้

และสิ่งที่จะวัดว่าพวกเขาสามารถรวมประเทศได้หรือไม่ ก็คือ “ความจริงใจ” ของชาวเกาหลีใต้ ว่าอยากช่วยเหลือญาติสนิทผู้ห่างไกลคนนี้ และพร้อมที่จะเผชิญปัญหาไปด้วยกันหรือไม่

เหมือนดังที่ชาวเยอรมันตะวันตกได้พยายามช่วยเหลือชาวเยอรมันตะวันออกอย่างถึงที่สุด จนพวกเขากลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน

 

ที่มา : the guardian, History of Germany (1945-90)สมาชิกหมายเลข 4007729German reunification

Comments

Leave a Reply