ตื่นเช้ามืด – แต่งตัว – ออกจากบ้าน – เรียน – เลิกเรียน – ไปเรียนพิเศษ – กลับบ้าน – ตื่นเช้า…
ถ้าข้อความข้างบนทำให้คุณรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นตัวเองล่ะก็ คุณคือเด็กไทยอย่างแน่นอน เพราะเราอยู่ในประเทศที่มีการแข่งขันสูง การสอบวัดผลและคะแนนมีผลต่อชีวิตของเรามาก (หากเราและทางบ้านให้ค่ากับมัน)
นั่นทำให้เด็กกว่าครึ่งค่อนประเทศต้องเรียนอย่างหนัก ซ้ำยังต้องออกไปหาสถานที่เรียนพิเศษนอกโรงเรียนด้วย
แม้ลึกๆ เราจะรู้สึกอิจฉาในประเทศต่างๆ ที่ไม่ต้องมาเรียนหนักๆ แบบบ้านเรา และยังมีเวลาเอาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น แต่พวกเขาก็ต้องเจอกับปัญหาที่แตกต่างกันไป
เพราะอย่างใน “ออสเตรเลีย” เองกำลังประสบกับปัญหาที่เหล่าพ่อแม่ผลักดันเด็กๆ ให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ นอกห้องเรียนมากเกินไป จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กๆ เอง
ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่บ่งชี้ว่าการสนับสนุนให้เด็กๆ (ตั้งแต่ 4 ขวบเป็นต้นไป) ทำกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียน จะช่วยให้พวกเขาทำกิจกรรมในห้องเรียนได้ดีขึ้นไปด้วย เช่นการว่ายน้ำ การเต้นรำ การปั้นเครื่องปั้นดินเผา การทำสวน เล่นดนตรี หรือวิชาคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้การทำกิจกรรมนอกห้องยังช่วยให้เด็กๆ พัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ ได้เร็วขึ้นด้วย เช่นการเข้าสังคม จัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น หลับได้สนิทขึ้น
แต่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาการตื่นตระหนกได้บอกว่าการที่เด็กๆ มีกิจกรรมให้ทำมากเกินไปจนไม่มีเวลาว่างนั้น จะทำให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาของเด็กได้
กลุ่มทุนสำหรับเด็กๆ ในออสเตรเลีย (Australian Scholarships Group) ออกมาให้ข้อมูลว่าเมื่อเหล่าเด็กๆ โตขึ้นและเข้าสู่ช่วงประถมพวกเขาก็จะเริ่มเล่นกีฬา เช่นเทนนิส ฟุตบอล ศิลปะป้องกันตัว และมีกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ถูกจัดสรรไว้แล้วเพิ่มมากขึ้นๆ
ซึ่งในบรรดากิจกรรมเหล่านั้น พ่อแม่เองต้องจ่ายเงินราวๆ 3 แสนกว่าบาทต่อปี เพื่อผลักดันให้ลูกๆ วัยอนุบาลได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน และหากลูกๆ เริ่มเข้าสู่ช่วงประถม ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะเพิ่มขึ้นไปราวๆ 2 ล้านบาทต่อปีทีเดียว
มีรายงานว่าโรงเรียนหลายแห่งในออสเตรเลียเพิ่มเวลาเปิดทำการเป็น 12 ชั่วโมง เพื่อให้เหล่าเด็กๆ สามารถทำกิจกรรมนอกห้องเรียนได้ยาวนานขึ้น
แต่นักจิตวิทยาและนักศึกษาศาสตร์ได้ออกมาเตือนพ่อแม่ผู้เข้มงวดว่าไม่ควรผลักดันลูกมากเกินไป
พวกเขาบอกว่ากิจกรรมนอกห้องเรียนต่างๆ ที่เด็กๆ ต้องจ้องหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ราวๆ 12-14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจหมายความว่าพวกเขาจะพลาดการละเล่นสร้างสรรค์ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ไป
ที่ปรึกษาโรงเรียนและนักจิตวิทยา Rose Cantali ออกมาเตือนว่าเด็กๆ หลายคนรู้สึกเหนื่อยล้าจากวันยุ่งๆ ของพวกเขาและไม่มีเวลาพอที่จะนั่งทบทวนชีวิตของพวกเขาหรือแม้แต่การปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวของตัวเอง
“การที่เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มากเกินไปมีความเสี่ยงที่จะทำให้พวกเขาเสียสมาธิจากการพัฒนาทางธรรมชาติและทำให้การพัฒนาทางอารมณ์ชะงักไปด้วย” เธอกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูบุตร ดอกเตอร์ Justin Coulson ได้ออกมาให้คำแนะนำว่าควรจะให้เด็กๆ ได้เลือกสิ่งที่พวกเขาอยากทำมากกว่าจะจับยัดใส่มือพวกเขา เพราะจะทำให้เกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น
“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเลี้ยงลูกให้มีความสามารถและกลายเป็นการแข่งขันระหว่างพ่อแม่ ขอให้รู้ไว้ว่าคุณกำลังล้ำเส้นเกินไป พ่อแม่ควรถามตัวเองว่า ‘นี่เรากำลังทำสิ่งนี้เพราะลูกจะประสบความสำเร็จ หรือพวกเขาจะมีความสุขกันแน่?’ ลูกของคุณรู้สึกว่าคุณสนใจผลลัพธ์มากกว่าสิ่งที่พวกเขาทำไหมล่ะ? ถ้าใช่ พวกเราก็ไปผิดทางแล้ว” ดอกเตอร์ Justin กล่าว
จากเรื่องราวที่เราเล่ามานั้น อาจไม่ได้หมายความว่าเด็กๆ ที่ได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนไม่มีความสุขเลย เพียงแต่หากมันมากเกินไปพวกเขาก็จะได้รับผลกระทบโดยที่ไม่ทันรู้ตัว เพราะพวกเขาเพียงแค่ทำตามในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้ทำเท่านั้น
และแม้จะดูไม่ใกล้เคียงกับบริบทบ้านเราสักเท่าไหร่ แต่เราจะพบเห็นได้ว่ามีพ่อแม่หลายๆ คนที่พยายามส่งลูกๆ ของตัวเองไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนอยู่ไม่น้อย หากทำมันในปริมาณที่พอเหมาะพอดี ก็จะเป็นผลดีต่อลูกๆ ในอนาคตนะครับ
ที่มา dailytelegraph
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.