เปิดบทลงโทษแท็กซี่ในประเทศต่างๆ หาก “ปฏิเสธผู้โดยสาร” ถูกปรับเท่าไหร่ รุนแรงแค่ไหน?

“ไม่ครับไปส่งรถ” “ไปเติมแก๊ส” “เส้นนั้นรถติดครับพี่” “ราคาเหมาได้ไหมครับ” และอีกสารพัดคำตอบอันหนักแน่นจากเหล่าแท็กซี่ผู้น่ารัก ที่เรามักจะได้ยินเวลาที่เราอยากจะโบกรถแท็กซี่แอร์เย็นๆ สักคันกลับบ้านไปพักผ่อน

ด้วยปัญหาการที่แท็กซี่หลายๆ คันเลือกรับผู้โดยสาร และขอค่าโดยสารเป็นราคาแบบเหมาๆ ก็ยิ่งทำให้ผู้โดยสารอย่างเรารู้สึกท้อแท้ในการเรียกพี่ๆ ทั้งหลาย และถึงจะมีการจดป้ายทะเบียนแล้วนำไปร้องเรียนกับกรงขนส่ง แต่พวกพี่ๆ แท็กซี่จะก็ถูกปรับเพียง 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งดูจะไม่รุนแรงเท่าที่หลายๆ คนคาดหวังไว้

 

 

ภาพของพี่ๆ แท็กซี่ที่พากันปฏิเสธผู้โดยสารในวันฝนตกช่วงต้นเดือนเมษายน 2018 ที่ผ่านมา (อ่านข่าวเก่าได้ที่นี่)

 

จากค่าปรับเพียง 1,000 บาทที่เราเห็น ก็เลยทำให้หลายๆ คนสงสัยกันมากว่าในต่างประเทศล่ะ มีบทลงโทษสำหรับการปฏิเสธผู้โดยสารยังไงบ้าง? และนอกจากการปฏิเสธผู้โดยสารแล้วมีกรณีไหนอีกไหมที่พวกเขาจะถูกปรับ? ลองมาไล่ดูกันไปเป็นข้อๆ เลย

1. เกาหลีใต้

อย่างกรณีแรกนี้เป็นเรื่องราวของกฎหมายใหม่ของแท็กซี่ในประเทศเกาหลีใต้ที่ปฏิเสธผู้โดยสาร ที่ออกมาเมื่อปี 2015 ที่ระบุว่าหากแท็กซี่คันไหนปฏิเสธผู้โดยสารจะต้องถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 2 แสนวอน (ประมาณ 5,860 บาท)

ถ้าหากแท็กซี่คันเดิมถูกจับได้อีกเป็นครั้งที่ 2 จะถูกจับปรับเป็นเงิน 4 แสนวอน (ประมาณ 11,723 บาท) ถูกพักใบขับขี่ไป 30 วัน

หลังจากนั้นหากยังมีครั้งที่ 3 เกิดขึ้นอีกภายในเวลา 2 ปี แท็กซี่คันนั้นจะถูกปรับ 6 แสนวอน และยึดใบขับขี่แบบถาวรไปเลย

เชื่อว่าถ้าเอากฎหมายนี้มาปรับใช้กับบ้านเรา ถนนในกทม. คงจะโล่งไปในเวลาไม่นาน

 

2. อังกฤษ

กฎหมายใหม่ในอังกฤษระบุว่าหากคุณเป็นคนขับแท็กซี่แต่ปฏิเสธผู้โดยสารที่นั่งวีลแชร์หรือพยายามจะเก็บค่าโดยสารที่แพงกว่าปกติ คุณจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 1 พันปอนด์ (เกือบๆ 4 หมื่นบาท)

กฎหมายนี้ถูกบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายนปี 2017 และไม่ได้บังคับใช้แค่กับแท็กซี่ แต่ยังรวมไปถึงรถรับจ้างส่วนบุคคลอื่นๆ ด้วย

 

3. สหรัฐอเมริกา

ในปี 2011 เว็บไซต์ Newyorkpost ได้รายงานว่าตัวเลขการปฏิเสธผู้โดยสารของแท็กซี่นั้นมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องมีการปรับเพิ่มบทลงโทษให้มากตามไปด้วย

จากที่บทลงโทษเดิมนั้นจะปรับเป็นจำนวน 200-350 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,276 – 10,983 บาท) ในการปรับครั้งแรก และ 350-500 ดอลลาร์สหรัฐในครั้งที่ 2 (เป็นเงินราวๆ 10,983 – 15,690 บาท) ให้กลายเป็น 500 ดอลลาร์สหรัฐในครั้งแรกไปเลย และหากยังถูกจับอีกก็จะถูกปรับแพงขึ้นและพักใบขับขี่ไป 24 เดือน

 

4. ฮ่องกง

ในช่วงมีนาคมปี 2012 มีข่าวว่าคนขับแท็กซี่ชาวฮ่องกงวัย 68 ปี ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดฐานปฏิเสธผู้โดยสารพ่อแม่ลูกกลุ่มหนึ่ง และต้องจ่ายเป็นค่าปรับราวๆ 4,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 16,000 บาท)

เรื่องมีอยู่ว่านาย Raymond Wong Kwok-fai ได้ออกไปชอปปิงกับครอบครัว ในตอนขากลับเขาได้เรียกแท็กซี่ แต่เขากลับถูกปฏิเสธ จึงเกิดการถกเถียงกันขึ้น

และแม้นาย Wong จะขู่ว่าเขาจะเอาเรื่องนี้ไปร้องเรียน แต่คนขับแท็กซี่กลับบอกว่า “แล้วแต่คุณเลย” ทำให้ศาลตัดสินว่าคนขับแท็กซี่รายนี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและไม่ซื่อสัตย์สุจริต

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ hong kong taxi

 

5. จีน

เมื่อช่วงต้นเมษาปี 2012 จีนได้ออกกฎหมายใหม่กับคนขับแท็กซี่ ที่ปฏิเสธผู้โดยสารอย่างไร้เหตุผล หรือปฏิเสธเพราะเส้นทางที่ผู้โดยสารเรียกให้ไปนั้นไกลเกินไป หรือคิดค่าโดยสารแพง พวกเขาจะถูกปรับเป็นเงิน 200 หยวน (ราวๆ 1,000 บาท) ซึ่งดูจะเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับบ้านเราที่สุดแล้ว

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ china taxi

 

6. จอดแท็กซี่ในป้ายรถเมล์ก็มีความผิดนะ

บ่อยครั้งที่เราเห็นรถแท็กซี่ในบ้านเราจอดรับผู้โดยสารที่ป้ายรถเมล์กันอย่างหน้าตาเฉย แต่ในต่างแดนการทำแบบนี้ถือว่ามีความผิดนะ

จากการค้นข้อมูลพบว่ามีผู้คนหลายคนจากประเทศอังกฤษและออสเตรเลียที่ได้รับใบสั่ง หลังจากที่ตัวเองขับรถไปจอดที่บริเวณป้ายรถเมล์ โดยค่าปรับก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 2 – 4 พันบาท

 

จากที่เราหยิบมาเล่านั้นจะเห็นได้ว่าในแต่ละประเทศมีบทลงโทษหนักเบาที่แตกต่างกันไป เราเองในฐานะผู้ใช้ก็ไม่ได้อยากจะให้บทลงโทษมันแรงไปกว่านี้หรอก ขอเพียงพี่ๆ แท็กซี่ไม่ปฏิเสธเราในวันฝนตก และคิดค่าโดยสารตามจริง แค่นี้เราก็จะดีใจมากแล้วล่ะ

เรียบเรียงโดย เหมียวฟิ้น

ที่มา quoramycarforumdailymailkoreaobservertheguardiannypostscmp

Comments

Leave a Reply