ภาษาเกิดขึ้นมาเพื่อการสื่อสาร เคยมีความเชื่อว่าเดิมทีนั้นมนุษย์เราพูดภาษาเดียวกันทั้งโลก มันอ้างจะฟังดูดีในแง่ของการสื่อสารที่เป็นหน้าที่หลักของภาษา แต่หากมองตามความงามของแต่ล่ะภาษาแล้ว เราจะเสียภาษาที่สวยงามกันไปมากมายเลยทีเดียว
ความต่างขอภาษานั้นอาจจะทำให้คนเราเข้าใจผิดกันอยู่บ่อยๆ ก็จริง แต่ถ้าไม่มีมัน เราก็อาจจะไม่ได้เห็น เรื่องสุดฮา ที่เกิดขึ้นมาจากความต่างของภาษา ต่อไปนี้ก็ได้นะ
ภาษาเหนือ
Eซาว
สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กุขับรถเครื่อง (รถมอเตอร์ไซค์) แวะปั๊มข้างมอกับเพื่อน
เด็กปั๊ม: เติมอะหยังคับปี้
กุ : 91 60น้อง
เด็กปั๊ม: 91 บ่มีแล้วคับปี้ บะเด่วนี้เขาเติม “Eซาว” ละคับ
กุ+เพื่อน : อะไรวะ?? ….อ่อ E20 นี่เอง
ซาวภาษาเหนือแปลว่า 20
โดย คุณเตาผิง
“ล่น”
รับน้องค่ะ ด้วยความที่จะมีการรับน้องปีหนึ่ง รุ่นพี่ก็เรียกๆๆๆๆ เราไปยืนรวมๆกัน แล้วสั่งให้กลับหอค่ะ แต่นางตะโกนว่า “ขะใจ๋ล่นแล่!!!!”
ลองคิดถึงคนภาคกลางสิคะ ตีความไม่ออกซักคำ!! ทำไงละทีนี้ เดาค่ะ หลักการเดาคำศัพท์เป็นสิ่งที่คนเรียนภาษาจำเป็นต้องงัดมาใช้ อาการ ล่น หรือ ร่น ทางภาคกลางหมายถึง ไอ้อาการที่ถุงเท้ามันย้วยแล้วล่นลงไปไม่ยึดติดกับน่อง หรือไม่มียางยืดกางเกงถอยร่นตกลงไป
แล้วพี่สั่งให้ ล่น!! เราต้องทำไง คุกเข่าเลยค่ะ แต่ก่อนที่จะได้เลื้อยท่าหนอนกระดืบไปตามพื้น (ตามที่ตัวเองจินตนาการไว้) เพื่อนรุ่นเดียวกันดันคว้าข้อมือกระชากวิ่งซะก่อน
อ่อออ…ถ้าสั่ง ล่น คือการให้ (วิ่ง???) นี่เอง…
โดย Rosel
เหตุการณ์ในวันหนึ่ง
เรา : อ้าย..เอาสายฮ้างมาหื้อกำ ( พี่เอาเข็มขัดมาให้หน่อย )
แฟน : อะหยังสายฮ้าง? ( อะไรคือสายฮ้าง? )
เรา : ก็เข็มขัดแอ่
แฟน : โค๊ะ! เมืองแต้เมืองว่า บ้านอ้ายฮ้องต้าย ( โค๊ะ! เหนืออะไรขนาดนั้น บ้านพี่เรียกต้าย) 55555
ไผเมืองเหลือไผบะฮู้
โดย Zo’Aunna
ภาษาอีสาน
ตอนผมมาอยู่อีสานใหม่ ๆ
ระหว่างเข้าเวร ก็มีญาติกลุ่มหนึ่งอุ้มคนไข้สาวรุ่น ๆ มา มีอาการตกเลือดจนผ้าซิ่นโชคเลือดไปหมดผมบอกพยาบาลให้พาเข้าไปห้องตรวจภายในขึ้นเตียงพีวี พอตรวจภายในก็ต้องตกใจ เพราะช่องคลอดฉีกขาดเป็นแผลลึกและใหญ่มากและบริเวณก้นเป็นรอยเขียวช้ำเหมือนถูกกระแทกอย่างแรง
ผม : ถูกอะไรเหรอครับ
คนไข้ : …..ตำ
ผม : (นึกในใจ) เป็นสาวทำไมพูดไม่อายหมอเลย ท่าทางแฟนเธอคงจะใหญ่มาก และคงจะหื่นมาก
พยาบาลเห็นผมเงียบ เลยยิ้มแล้วค่อยๆ กระซิบบอกผมว่า
“หมอคะ ควายภาษาอีสานออกเสียงไม่มีสระอาค่ะ”
โดย แมงเม่าน้อย
“จอบ” และ “เหมือนมั๊ย”
น้องชายเรา จากอีสานไปเรียน กทม. กลับบ้านมาเล่าให้ฟังว่า เปิดเทอมใหม่ไม่แน่ใจว่าอาจารย์จะเข้าสอนหรือเปล่า (คิดประหลาด) ก็บอกเพื่อน
ว่า “ไปจอบอาจารย์สิ ว่ามาหรือ” เพื่อนเงียบทั้งห้อง ถามอะไรนะ อะไรนะ ต้องอธิบายว่า จอบ คือ แอบดู
อีกอัน เราเองอันนี้อายอ่ะ ไปซื้อเสื้อกับเพื่อน ลองเสร็จหันมาถามเพื่อนว่า “เหมือนมั๊ย” เพื่อนงง “เหมือนไรเหรอ” เราก็ยังคงถามว่า “เหมือนหรือเปล่า” เพื่อนมันก็ เหมือนอะไรๆ เจนเราโมโห พอกลับมาถึงหอ อ้อ “เหมือนมั๊ย” ต้องพูดว่า สวยไหม หรือ เหมาะป่าวนี่เอง
วันนั้นงอนเพื่อน แบบเพื่อนก็งง อิอิ
โดย พุดดิ้งช๊อคโก้ตาโตกล้วยหอม
ภาษาถิ่น
ในจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน เกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อค้าส่งเกลือกับแม่ค้าขายของชำ ใช่! ทั้งสองเป็นคนอีสานเหมือนกัน แต่ใช้ภาษาในการสื่อสารที่ต่างกัน พ่อค้าส่งเกลือนั้นพูดอีสานอย่างอีสานทั่วไป ส่วนแม่ค้าของชำนั้นพูดภาษาถิ่นญ้อ ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก หลายท่านอาจไม่คุ้นชินกับสำเนียงของเผ่าญ้อนี้
เรื่องราวมีอยู่ว่าพ่อค้าส่งเกลือนี้มักจะนำเกลือมาขายส่งที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นประจำ แต่แล้วก็ได้หายหน้าหายตาไปพักใหญ่ ๆ กลับมาคราวนี้แม่ค้าของชำจึงเอ่ยปากถามว่า
แม่ค้า : เอ๋า ! เจ้าไปไสมา คือบ่มาส่งเกลือให้ข้อย
พ่อค้า : ข้อยไปหาน้อง น้องข้อยเสีย
แม่ค้า : เอ๋า ! น้องเจ้าตายบ่ เป็นหยังคือตาย
พ่อค้า : บ่แม่น !!! น้องข้อยเสีย บ่แม่นเสีย
แม่ค้า : เอ๋า ! เป็นหยังคือเสียสะ
พ่อค้า : น้องข้อยหาย บ่แม่นเสีย บ่แม่นตาย
แม่ค้า : เอ๋า จั่งซั่นบ่
น้องพ่อค้าส่งเกลือแค่เสีย (หายตัวไป) แต่แม่ค้าขายของชำกลับคิดว่าน้องพ่อค้าส่งเกลือนั้นเสีย (ตาย) เสียแล้ว นี่ล่ะหนาความไม่เข้าใจกันเรื่องของภาษา แม้จะอยู่ภาคอีสานเหมือนกันก็ตาม
โดย toepto
เรื่องขำขัน ตอน ครูสาว ^ ^
มีครูสาวเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยและสอบบรรจุเป็นครูได้ในชนบทภาคอีสาน วันหนึ่งหลังเลิกเรียนตอนเย็น ครูสาวได้ไปเที่ยวทักทายคนในหมู่บ้าน มียายคนหนึ่งเห็นเป็นครูมาบรรจุใหม่ สวยน่ารัก จึงเข้าไปจับมือถามด้วยความเอ็นดู
ยาย : ครูงามหลายมาอยู่ที่นี่โดนแล้วบ่อ (โดน:ภาษาอีสานแปลว่า”นาน”)
ครูสาวอายหน้าแดงจะโกรธก็โกรธไม่ลงเพราะเห็นว่าคนเฒ่าคนแก่ถามด้วยความเอ็นดู จึงตอบว่า
ครูสาว : มาอยู่ที่นี่ยังไม่โดนค่ะ แต่… ตอนเรียนก็โดนมาบ้างค่ะ
ไม่ใช่เฟ้ยยยยยย ยังมาอยู่ไม่นานค๊า!!!
โดย caracal
ภาษาใต้
“พา”
เป็นคนใต้ครับ หลายคำที่ใช้อยู่ทางใต้ ใช้บ่อยจนคิดว่าเป็นคำภาษากลาง พอมากทม.เลยเอามาใช้ด้วย เช่น เข้ามาปี 1 เด็กๆทุกคนต้องไปเจอ Adviser ก็ไปหาอาจารย์
พร้อมเพื่อนๆที่ได้ Adviser คนเดียวกันก็เข้าห้องประชุมไปนั่งรออาจารย์ พออาจารย์เข้ามาก็แจกกระดาษแล้วอาจารย์บอกว่า
อาจารย์: นิสิตช่วยเขียนชื่อ ที่อยู่ ชื่อเล่น และติดรูปถ่ายลงในกระดาษให้อาจารย์ด้วยนะ
ผม: ขอโทษครับ ผมลืมพารูปถ่ายมาครับ
——— เพื่อนๆ และอาจารย์เงียบกันทั้งห้อง ผมเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ คิดว่าอาจารย์โกรธ ———
ผม: คือผมลืมพารูปมาจริงๆครับ ขอโทษจริงๆครับ พรุ่งนี้จะพามาให้ครับ
สุดท้ายมีอาจารย์ท่านนึงผ่านมาเหมือนจะได้ยินพอดี เลยพูดกับ adviser ของผมว่า
“อาจารย์ครับ น้องคนนี้เป็นเด็กใต้ เค้าใช้คำว่า พา กับของทุกอย่างครับ”
แล้วอาจารย์กับเพื่อนๆก็หัวเราะกันครืนเลย 5555555+ อายมาก – -”
หลังจากนั้นเลยรู้ว่า คำว่า พา ใช้กับ คน เท่านั้น 55555+
“ฉันเป็นม่าย”
หญิงสาวเป็นหม้ายสามีเพิ่งตาย ไปใส่บาตรหลวงพี่รูปงาม แต่อาหารเป็นอาหารใต้
พอใส่บาตรเสร็จแล้ว จึงถาม หลวงพี่เป็นภาษาใต้ว่า..
“ฉันเป็นม่าย” (กินเป็นหรือป่าว)
หลวงพี่กลับตอบว่า “รู้แล้ว… สึกเมื่อไหร่….ค่อยคุยกันนะโยม”
อ๊ะๆ เชื่อเลยว่าคนแต่ละภาคย่อมเคยเจอประสบการณ์อะไรแบบนี้มาอย่างแน่นอน และช่องคอมเมนต์ก็ยังว่าง แบ่งปันประสบการณ์ของคุณกันมาได้
เดี๋ยวคราวหน้าทำบทความอีกรอบ ทางแคทดั๊มบ์จะเอาเรื่องฮาๆ ของเพื่อนๆ ทุกคนไปใส่ไว้เลยนะครับบบบบ ^^
รวบรวมโดย #เหมียวศรัทธา
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.