การทะเลาะ หรือการมีปากเสียงกัน ย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก เพื่อน หรือแม้แต่คนครอบครัว แต่แน่นอนว่าไม่มีใครอยากทะเลาะกันนานๆ หรอก ดังนั้นเมื่อมีปากเสียงเกิดขึ้นเราก็ควรจะจัดการให้มันจบอย่างสวยงามที่สุด
แต่เราจะจบมันอย่างไรให้ออกมาดีที่สุดล่ะ? เราจะรับมือกับอารมณ์โกรธเกรี้ยวที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?
การศึกษาทางจิตวิทยามีคำตอบ นักจิตวิทยาจึงแนะนำ 10 พฤติกรรมที่ควรทำ เมื่อต้องรับมือกับการทะเลาะ มีปากเสียง หรือความโกรธ บางข้ออาจดูไม่สมเหตุสมผล แต่เชื่อเถอะว่ามันมีประสิทธิภาพ
1. ต้องใจเย็นและคิดให้รอบคอบ
จำไว้เลยว่า เมื่อคนใดคนหนึ่งโกรธ นั่นไม่ใช่ความผิดของเขา แต่มันคือความผิดของ สภาวะอารมณ์ ต่างหาก พยายาม ใช้ความใจดีและใจเย็นเข้าสู้ แสดงออกให้เขาเห็นว่าเราอยากช่วยให้เขาผ่านพ้นอารมณ์แย่ๆ นี้ไปได้
แต่!! ห้ามพูดว่า “ฉันอยากช่วยเธอนะ” เป็นอันขาด เพราะมันฟังดูเหมือนคุณอยู่เหนือกว่าเขา ทางที่ดีคือควรลดความสำคัญของตัวคุณเองลง และพยายามทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น
2. ควบคุมอารมณ์ของตัวคุณเอง
อารมณ์ทางลบจะทำอะไรคุณไม่ได้ เว้นแต่คุณจะปล่อยให้ ความโกรธเข้าครอบงำ เวลาเจอคนโกรธหรือโมโห พยายามอย่าคล้อยตาม อย่าโกรธหรือโมโหไปด้วย ทำใจให้เย็นเข้าไว้
3. ทำความเข้าใจปัญหา
บ่อยครั้งที่คนเราโกรธโดยที่ ไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุ จริงๆ กันแน่ เรามักจะพูดจ้อไปเรื่อย ทำให้ยิ่งสับสบและอาจหลงประเด็นได้ เมื่อเราต้องเจอกับคนแบบนี้ วิธีรับมือก็คือการที่ พยายามแก้ไขปัญหาให้เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด
กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือการตั้งคำถามและทวนคำตอบที่เขาได้ตอบมา แต่ควรทวนเฉพาะคำตอบสำคัญๆ เท่านั้นนะ วิธีนี้จะทำให้เขาเหมือนได้ทบทวนตัวเองอีกครั้ง
4. อย่าพยายามหาข้ออ้าง
ไม่ว่าเหตุผลที่คุณทำให้เขาโกรธคืออะไร ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ มันไม่สำคัญเลย หากพวกเขายังอยู่ในอารมณ์โกรธอยู่ คุณจะหาเหตุผลหรือข้อเท็จจริงมาอ้างเท่าไหร่ก็คงไม่ช่วยให้เขาอารมณ์ดีขึ้น ทางที่ดีคือ พยายามเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายเสียก่อน แล้วค่อยอธิบายเหตุผลทีหลังหรืออาจจะไม่ต้องอธิบายเลยก็ได้
5. มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน
แน่นอนว่าเมื่อคุณกับอีกฝ่ายมีปากเสียงกัน แสดงว่าคุณกับเขาต้องมีปัญหาใดปัญหาหนึ่งร่วมกันแน่นอน ให้ลอง ค้นหาสาเหตุ ของการทะเลาะครั้งนี้ให้ออกมาเป็นกลางและชัดเจนที่สุด
วิธีนี้จะทำให้มุ่งไปที่สาเหตุหลักเท่านั้น และจะทำให้คุณกับเขาได้ย้อนทำความเข้าใจตนเองอีกด้วย จากนั้น จัดการปัญหาไปทีละประเด็น ลองคิดกันดูว่า เกิดอะไรขึ้น? แล้วมันแย่อย่างไร? แล้วมันต่างจากที่คิดไว้ตรงไหน? และต่อไปจะแก้ไขหรือป้องกันอย่างไร? เป็นต้น
6. อย่ากลัวที่จะเป็นฝ่ายผิด
การที่คุณไม่รู้สึกโกรธหรืออะไรก็ตาม มันไม่ได้แปลว่าคุณคือฝ่ายถูกเสมอไป หลายครั้งคนที่คิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ผลสุดท้ายเขาก็กลายเป็นคนที่ผิดจริง ฉะนั้น จงเตรียมใจเอาไว้ ความมั่นใจว่าตัวคุณถูกอาจกลายเป็นคำขอโทษในช่วงสิ้นสุดการทะเลาะก็เป็นได้
พยายามอย่ามั่นใจจนเกินไปว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก เพราะมันจะทำให้คุณไม่เข้าใจปัญหา การกระทำ (ที่คิดว่าถูก) ของคุณอาจทำร้ายใครเข้าก็ได้ ฉะนั้น ใจเย็นๆ ทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ก่อนจะคิดว่าตัวเองถูกหรือผิด
7. อย่าแสร้งทำเป็นไม่รู้สึก
อย่าแสร้งทำเป็นเหมือนว่าไม่สนใจ ไม่เห็นรู้สึกอะไรเลย จริงอยู่ที่ว่ามันเป็นเรื่องดีหากคุณสามารถทำใจให้เย็นและควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้
แต่มันจะแตกต่างกันลิบลับเลยหากว่า จริงๆ แล้ว ในใจคุณเจ็บหรือว่ารู้สึกโกรธ การแสร้งทำเป็นไม่สนใจ มันก็คือการยั่วโมโหอีกฝ่ายเท่านั้น เพราะมันดูไม่เป็นธรรมชาติเอาเสียเลย
8. กล้าที่จะถามว่ามีอะไรที่คุณพอจะทำได้เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้างไหม
การถามออกไปว่า “มีอะไรที่ฉันพอทำได้บ้างไหม?” นั้นเป็นคำถามที่ช่วยให้ ใจเย็นได้มากขึ้น เพราะมันเป็นการแสดงความเชื่อใจ ความจริงใจ และความต้องการที่จะแก้ปัญหาโดยแท้จริง แถมยังช่วยให้เข้าใจปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
9. อย่าทำตัวเองให้เหนืออีกฝ่าย
อารมณ์โกรธ เป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตใจหมดแรงและถูกทำลาย การที่อีกฝ่ายโกรธ ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนที่แย่กว่าคุณ แต่มันหมายถึงว่า ความรู้สึกของเขามันแย่กว่าความรู้สึกของคุณต่างหาก
ฉะนั้น สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ พยายามช่วยให้เขาเอาชนะความรู้สึกแย่ๆ นั้นได้ และพยายามอย่าทำเป็นว่าคุณดีกว่าหรือเหนือกว่าเขา เพราะการกระทำแบบนี้มันยิ่งไปทำร้ายความรู้สึกเขามากขึ้น
10. หากอีกฝ่ายยังไม่พร้อมที่จะคุย อย่าพยายามเร่งเร้าหรือบีบบังคับ
หากคุณพบว่าอีกฝ่ายกำลังโมโหมากและไม่สามารถรับฟังคุณได้อย่างสมเหตุสมผล คุณควร ถอยออกมาก่อน รอให้เขาใจเย็นลง หรือหากว่าคุณยังไม่พร้อมยอมรับความผิดพลาดที่คุณทำลงไปก็ใช้วิธีถอยออกมาก่อนเช่นกัน รอให้แต่ละฝ่ายพร้อมค่อยมาคุยกัน
จำไว้ว่าไม่ควรรีบคุยทั้งที่ไม่พร้อม หรือพยายามเร่งเร้าและบีบบังคับให้คุย เพราะนั่นจะทำให้เรื่องยิ่งแย่
การรับมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดไม่ควรใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง พยายามปรับใช้หลายๆ วิธิประกอบกัน รับรองว่า ทะเลาะแค่ไหนก็แก้ง่ายสบายมาก
ที่มา: Brightside
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.