7 เหตุผลที่เราตื่นขึ้นมากลางดึกทุกคืน ทั้งๆ ที่อยากจะนอนยาวๆ ให้เต็มอิ่มแท้ๆ

เคยเป็นกันไหม? ตอนกลางคืนให้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ในการข่มตาให้หลับ แต่สุดท้ายก็ตื่นขึ้นมาในอีก 2-3 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่กะว่าจะนอนให้เต็มอิ่ม จนทำให้แม้ว่าจะอยากนอนให้ครบ 7-8 ชั่วโมง สุดท้ายกลับได้นอนไม่ถึง 6 ชั่วโมงด้วยซ้ำ แล้วก็ต้องไปหาวอยู่ในที่ทำงาน

ถ้าคำตอบคือใช่ล่ะก็ ขอให้ดีใจไว้เลยคุณมาถูกที่แล้ว เพราะนี่คือ 7 เหตุผลที่เราตื่นขึ้นมากลางดึกทุกๆ คืน ทั้งๆ ที่อยากจะนอนยาวๆ ให้สบายๆ

 

ข้อที่ 1 นอนผิดท่า

เชื่อไหมว่า อาการเช่นความเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดหลังอาจเกิดจากการนอนบนเตียงด้วยท่าที่ไม่เหมาะสม เตียงนิ่มหรือแข็งเกินไป ซึ่งความไม่สบายตัวเหล่านี้สามารถทำให้คุณตื่นขึ้นมากลางดึกได้

Dr. John Douillard ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบอกว่าท่านอนที่ดีที่สุดนั้นคือการนอนตะแคงซ้าย การนอนท่านี้จะสามารถปรับปรุงการย่อยอาหารและการไหลเวียนโลหิต เสริมสุขภาพทางอารมณ์ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้ระบบน้ำเหลืองของคุณทำงานอย่างถูกต้องและป้องกันโรคหัวใจอีกด้วย

 

ข้อที่ 2 เสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อม

หากคุณอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ จะมีโอกาสสูงมากที่คุณจะต้องเผชิญกับเสียงรบกวนต่างๆทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะรถ เครื่องบิน ห้องข้างๆ หรือเพื่อนบ้านที่นอนดึก เสียงเหล่านี้อาจทำให้คุณภาพการนอนหลับของคุณลดลงอย่างมาก และแน่นอนว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่คนเราจะตื่นขึ้นในกลางดึก

วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดของเรื่องนี้คือการใช้ปลั๊กอุดหูในขณะนอนหลับ แต่อย่าลืมว่าปลั๊กอุดหูแบบโฟมนั้นมีอายุการใช้งานที่ไม่มากและต้องทำความสะอาดเป็นประจำด้วย การติดตั้งผนังเก็บเสียงก็เป็นอีกหนึ่งความคิดที่ดี จริงอยู่ว่าราคาอาจจะแพงอยู่บ้างแต่สุขภาพก็สำคัญกว่าเงินอยู่ดี

 

ข้อที่ 3 การหยุดหายใจขณะหลับ

การหยุดหายใจขณะหลับหมายถึงการที่ระบบทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดทำให้เกิดการหยุดหายใจในเวลากลางคืน จนระดับออกซิเจนในเลือดลดลงมากและร่างกายกระตุ้นให้คุณตื่นขึ้น นอกจากนั้นอาการอื่นๆ ของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับยังรวมไปถึง ปวดหัว ปากแห้ง เจ็บหน้าอก และอารมณ์แปรปรวนอีกด้วย

สิ่งที่ควรจะทำถ้าการวินิจฉัยได้รับการยืนยัน แพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้ทางเดินลมหายใจของคุณเปิดในขณะนอนหลับ แต่ในบางกรณีการผ่าตัดก็อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นเลยก็ได้ ดังนั้นถ้าสงสัยว่าตัวเองมีอาการหยุดหายใจในขณะหลับก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

 

ข้อที่ 4 กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข

เคยไหมที่ตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนเพราะอยากขยับขามากๆ นี่คืออาการของกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข ปัญหาทางระบบประสาทนี้อาจทำให้เกิดอาการคัน รู้สึกเหมือนโดนแมลงไต่บนขา หรือรู้สึกไม่ดีภายในขา บางครั้งคุณอาจรู้สึกปวดหรือเมื่อยที่ร่างกายท่อนล่างด้วย

การนวดเท้า การออกกำลังกายในระดับปานกลาง และการอาบน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการของอาการขาอยู่ไม่สุขได้ และหากคุณประสบปัญหาการนอนหลับเป็นอย่างมากในเวลากลางคืน การงีบหลับในตอนกลางวันก็ช่วยคุณได้เช่นกัน

 

ข้อที่ 5 อุณหภูมิห้องไม่เหมาะสม

เพื่อให้ร่างกายสามารถพักผ่อนอย่างเหมาะสมได้อุณหภูมิในห้องจะต้องไม่สูงมากจนเกินไป ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของประเทศในเขตร้อนอย่างประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ตามข้อมูลของมูลนิธินอนแห่งชาติอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนอนนั้นจะอยู่ที่ราว 15 ถึง 20 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นไปได้ค่อนข้างยากในไทย

ดังนั้นวิธีแก้ที่ดีจึงเป็นการอาบน้ำอุ่นๆ ก่อนนอน นี่จะเป็นการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายขึ้นชั่วคราว ก่อนที่จะปล่อยให้มันลดลงเพื่อเป็นการหลอกให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะพักผ่อนและส่งสัญญาณการนอนไปให้สมอง

 

ข้อที่ 6 การดื่มแอลกอฮอล์

แม้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์เป็นยาระงับประสาทที่สามารถทำให้คุณนอนหลับได้ค่อนข้างง่าย แต่มันก็สามารถเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณรู้สึกกระสับกระส่ายได้ การเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกายของคุณจะทำให้คุณภาพการนอนหลับของคุณแย่ลง รวมทั้งอาจทำให้คุณตื่นขึ้นมาตอนกลางดึกได้

ทั้งนั้นคุณควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน และลองดื่มชาดอกคาโมไมล์แทนดู มันจะช่วยให้คุณนอนหลับดีขึ้น

 

ข้อที่ 7 ออนไลน์ก่อนนอน

การดู Twitter หรือการแชทบน Facebook อาจทำให้คุณภาพการนอนหลับของคุณลดลง มีงานวิจัยที่บอกว่าการมองเห็นแสงสีฟ้าในตอนกลางคืน จะทำให้ร่างกายของคุณผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินสำหรับการนอนหลับน้อยลง

ดังนั้นคุณจึงควรที่จะปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 1 หรือ 2 ชั่วโมงก่อนที่คุณจะเข้านอน แต่หากไม่สามารถทำได้ก็ให้ลดแสงโทรศัพท์ที่ใช้ลง และถือไว้ห่างจากใบหน้าประมาณ 30-60 ซม.

 

เพียงเท่านี้การนอนหลับของคุณก็จะดีขึ้น

และตื่นขึ้นมากลางดึกน้อยลงได้ไม่ยากเลย

 

ที่มา brightside


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply