สำหรับผู้มีโรคประจำตัวมักจะรู้สึกเกร็งทุกครั้งที่ต้องขึ้นเครื่อง ซึ่งในกรณีนี้มักจะต้องนำยาประจำตัวติดมาด้วย หากลืมหรือไม่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเข้าเกท คงเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ๆ
หากเที่ยวบินนั้นมีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพโดยสารมาด้วย อาจจะช่วยให้อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานรายนี้ กลับผิดคาดไปจากที่คิด เพราะคนที่ช่วยชีวิตเขาไว้ได้คือ “นักศึกษาวิศวะ”
Karttikeya Mangalam
อาจจะฟังดูแล้วเกิดอาการงง เหตุเกิดในระหว่างเที่ยวบินจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สู่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย
Karttikeya Mangalam นักศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากสถาบัน IIT Kanpur กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาหลังจากเสร็จสิ้นโปรแกรมแลกเปลี่ยนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เขาพบว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินถามหาผู้โดยสารที่เป็นแพทย์ เนื่องจากหนึ่งในผู้โดยสารนาม Thomas วัย 30 ปี ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 กำลังเกิดอาการกำเริบ เนื่องจากขาดอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
เนื่องจาก Thomas ลืมเครื่องฉีดอินซูลินไว้ในถาด ระหว่างผ่านเข้าเกทตรวจสอบความปลอดภัยที่สนามบินนานาชาติเชเรเมเตียโว ซึ่งเขารับอินซูลินเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ 5 ชั่วโมงที่แล้ว จนระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติทำให้เขาเริ่มหน้ามืด
Karttikeya เขียนบอกเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้น…
แม้จะมีนายแพทย์โดยสารมาด้วย และเขาก็ประสบกับโรคเบาหวานเช่นกัน เขามีอุปกรณ์รักษาติดตัวมาแต่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับ Thomas เพราะปริมาณและส่วนประกอบของสารเคมีที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้เข็มฉีดอินซูลินของ Thomas เป็นคนละขนาดกับเครื่องฉีดของนายแพทย์ท่านนี้ เวลาผ่านไปร่วมชั่วโมง ร่างกายของ Thomas ก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ จนนายแพทย์แนะให้กัปตันลงจอดฉุกเฉินบนแนวชายแดนคาซัคสถาน–อัฟกานิสถาน เพื่อนำตัวส่งรับการรักษาเป็นการด่วน
ภายใต้สถานการณ์ความกดดันอย่างหนัก Karttikeya จึงทำการขอรหัสไวไฟของชั้นธุรกิจมาใช้ ทำการค้นหาคู่มือสร้างอุปกรณ์ฉีดอินซูลิน…
และเขาก็พบกับแผนภาพอุปกรณ์ที่สามารถใช้ร่วมกับเข็มอื่นได้ ด้วยความรู้ทางด้านวิศวกรรมที่มีจากคลาสเขียนแบบปี 1 เขาจึงแงะปากกาฉีดของ Thomas ออกมาดู
เขาพบว่าภายในนั้นมีชิ้นส่วนเพียง 12 ชิ้น แต่ในแบบที่ค้นเจอมี 13 ชิ้น นั่นก็คือสปริงที่จะส่งแรงให้กับเข็มจากข้างหลังไปข้างหน้า Karttikeya ให้พนักงานต้อนรับช่วยตามหาปากกาลูกลื่นจากผู้โดยสารท่านอื่น รวบรวมมาได้ 4 – 5 แท่ง จนในที่สุดก็พบกับสปริงที่มีขนาดพอดีกับเข็มฉีดเป๊ะ
“ผมทำการประกอบชิ้นส่วนเข้าไปใหม่ และส่งคืนให้กับคุณหมอท่านนั้น เขาปรับปริมาณยา เปลี่ยนเข็ม และฉีดอินซูลินให้กับ Thomas เวลาผ่านไป 15 นาที ระดับน้ำตาลในเลือดของเขาก็ลดลงจนกลับมาเป็นปกติ และไม่ต้องลงจอดฉุกเฉินแล้ว” เขาอธิบายเหตุการณ์ในครั้งนั้น
ทางสถาบัน IIT Kanpur ทวีตชื่นชมคุณความดีของนักศึกษา ที่สามารถช่วยชีวิตของคนอื่นได้
ท้ายที่สุดแล้ว Thomas รอดชีวิตมาได้ และทำการขอบคุณ Karttikeya ที่ช่วยชีวิตเขาเอาไว้ พร้อมกับเชิญชวนไปเที่ยวเยี่ยมเยียนบ้านเกิดที่อัมสเตอร์ดัม ที่ที่เขาเปิดกิจการภัตตาคารและโรงเบียร์ จะรอต้อนรับเพื่อเป็นการตอบแทนกับชีวิตที่เกือบสูญสิ้น…
ที่มา : thebetterindia, scroll, ladbible
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.