วันที่ 22 พฤษภาคม 2018 เป็นวันครบรอบ 4 ปีของการบริหารโดย คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ลุงตู่)
ซึ่งผู้นำคนนี้ได้บอกกับนักข่าวเอาไว้ว่า “บางคนอาจจะบอกว่า 4 ปี เป็นเวลาที่นาน แต่สำหรับผมเห็นว่า ยังมีอะไรที่ต้องแก้ไขและทำอีกเยอะ”
แต่ว่าสำหรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 19 แห่งกลับคิดต่างออกไป เมื่อพวกเขาส่วนใหญ่มองว่าหากมีการเลือกตั้ง นายกคนต่อไปขอเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ลุงตู่
ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2018 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้มีการจัดแถลงข่าวและอภิปรายผลจาก “การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย”
ประกอบด้วยนักศึกษาจำนวน 2,175 คน จาก 19 มหาวิทยาลัย ได้แก่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสารคาม มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
แบ่งผลสำรวจออกเป็น 3 หมวด นั่นก็คือ
1. เกี่ยวกับรัฐประหารและคสช.
– รายการคืนความสุข (จัดโดยคสช.) มีผู้ติดตามเพียงแค่ร้อยละ 27.3 ส่วน 72.7 คือไม่ติดตาม/ติดตามน้อย
– นักศึกษาร้อยละ 72.6 คิดว่ารัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้
– ร้อยละ 70.6 มีความเห็นว่าผลการทำงานของรัฐบาลในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับแย่/แย่มาก
– และเมื่อเปรียบเทียบถึงทหารที่ยึดอำนาจกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเขากว่าร้อยละ 86.2 มองว่าการบริหารประเทศของทหารไม่ได้ดีกว่านักการเมืองแต่อย่างใด
2. เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ
– นักศึกษาเกินครึ่งไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะสามารถแก้ปัญหาปราบโกง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แก้การซื้อเสียง แก้คอร์รัปชั่น ปกป้องสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมสวัสดิการได้
– ร้อยละ 70.8 ไม่เชื่อมั่นว่าความเชื่อมั่นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
3. เกี่ยวกับความหวังและการเลือกตั้ง
– กว่าร้อยละ 75.4 หมดหวังกับอนาคตประชาธิปไตย
– ร้อยละ 75.2 ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก (การเป็นนายกฯ โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง)
– อนาคตหากมีการเลือกตั้ง ร้อยละ 72.9 บอกว่าจะไป ร้อยละ 21.6 บอกว่ายังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 4.2 บอกว่าไม่ไป
– หากเลือกตั้งจะลงคะแนนเสียงให้พรรคใด
พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22.7
พรรคทางเลือกใหม่ ร้อยละ 21.6
พรรคเพื่อไทยร้อยละ 20.3
พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 10
พรรคอื่นๆ ร้อยละ 8.6
พรรคทหาร ร้อยละ 2.5
และไม่เลือกพรรคใด ร้อยละ 14.4
– คนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี 10 อันดับแรก ได้แก่
ร้อยละ 70.6 ไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นใคร แต่ในส่วนนี้ร้อยละ 35 ระบุใครก็ได้ที่ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์
ร้อยละ 6.8 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ร้อยละ 5.7 นายทักษิณ ชินวัตร
ร้อยละ 4.1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ร้อยละ 1.9 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ร้อยละ 1.6 นายอุดม แต้พานิช
ร้อยละ 1.3 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ
ร้อยละ 1.1 นายอาทิวราห์ คงมาลัย
ร้อยละ 0.9 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
เรื่องของการเมืองการปกครองในบ้านเรายังคงเป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวง อย่างที่พวกเราหลายๆ คนคิดภาพกันเอาไว้ก็ได้
ที่มา: morning-news.bectero , ThaiPBS , เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง – คนส.
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.