หลังจากการทำงานอันเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน คุณเคยคิดรึเปล่าว่าคุณใช้เวลาอยู่กับลูกจริงๆ มากเท่าไหร่ บางคนอาจจะบอกว่ามากเป็นหลายชั่วโมง บางคนอาจจะบอกว่าแทบไม่ได้คุยกัน หรือบางคนอาจจะขอคำจำกัดความที่ว่าการ “อยู่กับลูกจริงๆ” คือแบบไหน
แต่รู้รึเปล่าว่าเวลาที่เด็กๆ ต้องการจากคุณ แบบจริงๆ จังๆ และสำคัญมากนั้น มันก็เพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้นเอง
กฎ 3 นาที สิ่งสำคัญที่ง่ายกว่าที่คุณคิด
นักจิตวิทยา Nataliya Sirotich บอกว่า สิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูลูกนั้นคือกฎที่ว่า คุณจะต้องไปอยู่กับลูกและพูดคุยกับพวกเขาเป็นเวลาสามนาทีทุกครั้งที่พวกคุณจากกันเป็นระยะเวลานาน (นานในที่นี้คือ ต่อให้เดินไปหน้าปากซอย 10 นาทีก็ต้องทำนะ)
ให้คุณลดระดับของสายตาลงไปให้เสมอกับเด็กๆ ให้ความรักแก่พวกเขา จะด้วยการกอด จูบ หรือลูบหัวก็แล้วแต่ หลังจากนั้นให้ถามพวกเขาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างตอนที่คุณไม่อยู่ เป็นเวลาราวๆ 3 นาที โดยเฉพาะหลังจากกลับจากโรงเรียน หรือตอนคุณกลับมาจากงาน
ทำไมต้องทำแบบนั้น?
ตามที่นักจิตวิทยากล่าว ในช่วงนาทีแรกหลังจากที่คุณคุยกับลูกๆ พวกเขาบอกข้อมูลทั้งหมดที่พวกเขาจำได้ให้แก่คุณ ซึ่งหากปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่พูดคุยกับพวกเขา เด็กๆ อาจจะหมดโอกาสที่จะได้พูดอะไรสำคัญๆ หรือลืมจุดสำคัญของเรื่องที่พวกเขาจะพูด ทำให้พวกเขาพูดไปเรื่อยเปื่อยทั้งวันไม่ยอมหยุด
นั่นอาจจะทำให้พ่อแม่พลาดข้อมูลสำคัญๆ ที่เด็กๆ ควรจะบอก อย่างเห็นควันขึ้นที่ปลั๊กไฟ เนื่องจากเด็กๆ คิดว่าไม่สำคัญเลยไม่ได้พูดถึงมัน หรือเด็กๆ อาจจะพูดเรื่องโน่นนี่ทั้งวัน จนพ่อแม่ไม่ได้สนใจฟังในเรื่องสำคัญจริงๆ ได้
การยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญ
ถึงแม้จะบอกว่าเวลาที่เด็กๆ ต้องการจากคุณนั้นก็เพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้คุณใช้เวลากับเด็กๆ เพียงสามนาทีเท่านั้น จำไว้ว่าเรื่องบางเรื่องที่เด็กเล่านั้นไม่สามารถจบได้ในเวลาสามนาทีจริงๆ และไม่ว่ายังไงเด็กๆ ก็ต้องการความใส่ใจจากพ่อแม่อยู่ดี
กฎสามนาทีนั้นเอาเข้าจริงๆ แล้ว หมายความว่าคุณควรจะใช้เวลา “อย่างน้อย” 3 นาทีในการ “ตั้งใจฟัง” ลูกๆ หลังจากที่ไม่ได้เจอกันในระยะเวลาหนึ่งเพื่อที่จะรับข้อมูลสำคัญๆ จากเด็กๆ ให้ครบต่างหาก
ข้อแนะนำอื่นๆ
1. หากเด็กๆ พบเรื่องอะไรที่สนใจ ให้ใช้เวลากับพวกเขาในเรื่องนั้นไปพร้อมๆ กัน
2. ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กเข้าใจว่าคุณฟังพวกเขาอยู่ เช่นการพูดซ้ำสิ่งที่พวกเขากล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่คุณได้มานั้นถูกต้อง
3. อย่าแกล้งทำเป็นตื่นเต้น
4. กลับมาพูดเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นบางครั้ง ให้พวกเขารู้ว่าคุณจำสิ่งที่พวกเขาพูดถึงได้
5. หลีกเลี่ยงการโต้แย้งที่ยืดยาว และไร้ประโยชน์แม้ว่าคุณจะมั่นใจว่าคุณถูก แค่บอกลูกว่า “โอเค ฉันเข้าใจแล้วว่าเธอไม่เห็นด้วยกับฉัน” เท่านั้นก็พอ แต่ให้ระวังเรื่องน้ำเสียงด้วย
ไม่ยากใช่ไหมล่ะ นักจิตวิทยาบอกว่าถ้าคุณปฏิบัติตามกฎนี้ได้
คุณจะได้รับความไว้วางใจจากบุตรหลานของคุณแม้ว่าพวกเขาจะโตเป็นวัยรุ่นก็ตาม
ที่มา brightside
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.