การที่หนึ่งคนจะประสบความสำเร็จในด้านหน้าที่การงานได้ จะต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจไปมากแค่ไหนกัน? และสิ่งที่ทุ่มลงไปนั้น กำลังตอบแทนหรือกำลังบั่นทอนชีวิตของเรากันอยู่…
สิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ คือเรื่องราวของ Ranjan Das นักธุรกิจระดับผู้บริหารอายุน้อย ด้วยวัยเพียง 42 ปี แต่มีหน้าที่การงานและความรับผิดชอบที่ใหญ่โต ซึ่งเขาก็จัดการได้เป็นอย่างดีเสียด้วย
Ranjan Das นั้นเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร ของบริษัทซอฟต์แวร์ SAP ประจำภูมิภาคอินเดีย และเขาก็เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อสุขภาพสูงมากๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ เข้ายิมทุกวันและเป็นนักวิ่งมาราธอนตัวยง ไม่ดื่มเหล้าและไม่สูบบุหรี่…
โดยในทุกๆ วันเขาจะออกวิ่งบนถนนเส้น Carter ย่าน Bandra ในเมืองมุมไบ แต่แล้วในวันหนึ่ง หลังจากที่กลับมาบ้านหลังออกกำลังกายเป็นประจำ เขาล้มลงจากหัวใจวายอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา (ปี 2009)
จากการเสียชีวิตของ Ranjan Das กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในบริษัทห้างร้านของอินเดียขึ้นมาทันที เนื่องจากว่าเขามีสุขภาพดีมากๆ เป็นนักกีฬาตัวท็อป แต่กลับเสียชีวิตกระทันหันได้อย่างไร หรือมีสาเหตุมาจากการทำงานหนัก?
ทั้งนี้ จากการสืบประวัติการใช้ชีวิตของเขา Ranjan Das เคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Boss’ Day Out ของสถานีโทรทัศน์ NDTV
เขายอมรับตัวเองนั้นเป็นคนที่มีชั่วโมงนอนน้อยมากๆ เฉลี่ยเพียงคืนละ 4 – 5 ชั่วโมงเท่านั้น และอยากจะมีชั่วโมงนอนที่มากกว่านี้…
ระยะการนอนหลับสั้น (5 – 6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น) จะส่งผลทำให้เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงขึ้น 350 ถึง 500 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับบุคคลที่นอนหลับมากกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป
สำหรับบุคคลในวัย 25 ถึง 49 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นไปอีก 2 เท่า หากมีระยะการนอนหลับที่สั้น และบุคคลที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน จะเสี่ยงกับโรคหัวใจถึง 3 เท่า
สำหรับ 1 คืนของการนอนน้อย ร่างกายจะได้รับสารพิษหลายชนิด เช่น Interleukin-6 (IL-6), Tumour Necrosis Factor-Alpha (TNF-alpha) และโปรตีนตอบสนองการอักเสบ C-reactive protein (cRP) ซึ่งจะเพิ่มอัตราเสี่ยงทางด้านสุขภาพหลายชนิด รวมไปถึงมะเร็ง โรคข้ออักเสบ และโรคหัวใจ
ทั้งนี้ในการนอนหลับแต่ละครั้ง จะประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอนระหว่าง REM และ non-REM (ช่วงลูกตาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว) และจะสลับไปมาทั้ง 2 ขั้นตอนประมาณ 4 – 5 ครั้งต่อคืน
โดยที่ REM จะช่วยในการปรับสภาพจิตใจ และส่วนของ non-REM นั้นช่วยในการซ่อมแซม และเสริมสร้างสภาพร่างกาย
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า หากคุณนอนหลับได้เพียง 5-6 ชั่วโมงและต้องตื่นมาใช้ชีวิตในวันนั้น คุณจะรู้สึกหงุดหงุดได้ทั้งวัน แต่ถ้าหากคุณนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง ร่างกายจะอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งในแง่ของอารมณ์และภูมิคุ้มกัน รู้สึกเหนื่อยได้ทั้งวัน
ในกรณีของ Ranjan Das นั้น เขาไม่มีความเครียดใดๆ เขาจัดการชีวิตตัวเองได้ในแง่ของการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนัก แต่ขาดชั่วโมงในการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอในแต่ละวัน
ซึ่งจำนวนชั่วโมงนอนหลับที่เหมาะสมนั้นควรจะเป็น 7 ชั่วโมงต่อคืน หากคุณใช้ชีวิตนอนน้อยทุกวันแบบนี้ โปรดจงระวังเอาไว้ว่า คุณกำลังลดนาฬิกาชีวิตตัวเองลงไปเรื่อยๆ…
ที่มา : NDTV Profit, timesofindia, assamtimes, transitioning
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.