กำลังกลายเป็นเรื่องที่สังคมบ้านเราให้ความสนใจกันอยู่ ณ ขณะนี้ กับเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมา ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อไปถึงราคาสินค้าและบริการต่างๆ ให้ขึ้นราคาตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชนมากมายหลากหลาย คนตัดสินใจที่จะออกมาประท้วง ไม่เติมน้ำมันกับปั๊ม ปตท. เพื่อเป็นการแก้เผ็ด
และสำหรับวันนี้ #เหมียวหง่าว จะขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับ ‘โครงสร้างของราคาน้ำมัน’ กันสักหน่อย เพื่อเป็นการเข้าใจให้ตรงกันว่า จริงๆ แล้วที่มาที่ไปของราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นนั้น มันเกิดจากอะไรกันแน่!?
โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย จะมีองค์ประกอบที่แบ่งแยกออกไปทั้งหมด 8 ส่วน ดังนี้
1. ราคาหน้าโรงกลั่น
หรือราคาน้ำมันสำเร็จรูปแบบเพียวๆ ที่ยังไม่รวมภาษี กองทุน และค่าการตลาดต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราไปรับน้ำมันมาจากแหล่งใด (ส่วนใหญ่แล้วจะอ้างอิงจากราคาน้ำมันโลก)
ยกตัวอย่างราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ E20 หน้าโรงกลั่นวันที่ 25 พฤษภาคมนี้อยู่ที่ 19.9130 บาท
หลังจากที่รับน้ำมันจากราคาหน้าตลาดมาเสร็จสรรพ น้ำมันดังกล่าวก็จะเข้ามาสู่กระบวนการดังต่อไปนี้
2. ภาษีสรรพสามิต
คือภาษีที่จัดเก็บสินค้าที่มีผลกระทบต่อสังคม เป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้ของสินค้า นอกจากนี้ยังเป็นการจัดหารายได้เข้าสู่รัฐ และรายได้ส่วนนี้จะถูกนำมาใช้ประโยชน์แก่สังคม
ภาษีสรรพสามิตของแก๊สโซฮอล์ 95 E20 วันนี้ 5.20 บาท
3. ภาษีเทศบาล
เป็นภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มตามมาตรา 4 ของ พรบ. จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527
ภาษีส่วนนี้จะถูกส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ยกตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันดีเซล กัน เบนซิน ไม่เหมือนกันก็จะมีการเก็บภาษีในราคาที่แตกต่างกัน
ภาษีเทศบาลของแก๊สโซฮอล์ 95 E20 วันนี้ 0.52 บาท
4. เงินเรียกเก็บเข้าจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
กองทุนดังกล่าวนี้จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในปี 2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
มีวัตถุประสงค์หลักคือการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ
เงินเก็บเข้ากองทุนเชื้อเพลิงของแก๊สโซฮอล์ 95 E20 วันนี้อยู่ที่ -3.00 บาท (ที่เป็นลบเพราะกองทุนอุดหนุนเข้ามาให้อยู่ครับ)
5. เงินเรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน
เงินเรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.10 บาท
6. ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง (VAT)
เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ ปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจการขายสินค้า การให้บริการชนิด และการนำเข้า อยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์
จากห้าข้อที่ผ่านมา ราคาขายส่งแก๊สโซฮอล์ 95 E 20 อยู่ที่ 22.7330 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่งก็จะอยู่ที่ 1.5913 บาท
7. ค่าการตลาด
คือผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันจะได้รับจากการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ ทั้งการลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง การก่อสร้างสถานีบริการ การส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายการดำเนินธุรกิจทุกอย่าง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงาน
นั่นหมายความว่าค่าการตลาดไม่ใช่กำไรของผู้ประกอบการแต่อย่างใด แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจซึ่งรวมไปถึงกำไรด้วย
ค่าการตลาดของแก๊สโซฮอล์ 95 E20 วันนี้อยู่ที่ 3.1922 บาท
8. ภาษีมูลค่าเพิ่มของการตลาด (จากข้อก่อนหน้านี้)
คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ของค่าการตลาดด้านบน ซึ่งถ้าอิงตามข้อต่างๆ ก็จะอยู่ที่ 0.2235 บาท
ทีนี้เราลองมาสรุปกันครับ
ยกตัวอย่างราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ E20 หน้าโรงกลั่นวันที่ 25 พฤษภาคมนี้อยู่ที่ 19.9130 บาท
ภาษีสรรพสามิต 5.20 บาท
ภาษีเทศบาล 0.52 บาท
เงินเก็บเข้ากองทุนเชื้อเพลิง -3.00 บาท (ที่เป็นลบเพราะกองทุนอุดหนุนเข้ามาให้อยู่ครับ)
เงินเรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.10 บาท
เราจะได้ราคาขายส่งอยู่ที่ 22.7330 บาท
ยัง ยังไม่จบนะครับ ต่อจากนี้ก็จะมี
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.5913 บาท
ค่าการตลาด 3.1922 บาท
และ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาขายปลีก 0.2235 บาท
เราจะได้ราคาขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 27.74 บาทนั่นเอง
ในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมันแบบอื่นๆ ดูได้ตามตารางนี้เลยครับ…
และทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาของน้ำมันนั่นเอง หวังว่าเพื่อนๆ ทุกคนจะได้รับความรู้ไปไม่มากก็น้อยนะจ๊ะ
ที่มา : กระทรวงพลังงาน
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.