“อาจารย์น้ำอ้อย” ครูศิลปะไขความจริง ภาพวาด “แวน โก๊ะ” ของคุณอุ๊ เป็นของเก๊งั้นหรือ!?

หลังจากมีกระแสของคุณ “อุ๊ หฤทัย” เปิดเผยภาพวาดของศิลปินดัง “วินเซนต์ แวน โก๊ะ” ที่เธอซื้อมาในราคาแสนถูกเพียง 1,000 เดียว แต่อาจจะมีราคาสูงถึง 3,000 ล้านบาท

ล่าสุดอาจารย์น้ำอ้อย อ่าวสินธุ์ศิริ ซึ่งเป็นครูสอนศิลปะคนดัง ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวผ่านบทความบนโพสต์เฟซบุ๊ก และชี้ถึงจุดอ่อนที่อาจจะพิสูจน์ได้ว่าภาพนั้นไม่ใช่ของจริง

 

 

บทความดังกล่าวมีหัวข้อว่า… มืออาชีพไม่ควรไปร่วมเลอะเทอะด้วย

สอนศิลปะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถ้าจะนับก็นานถึง 27 ปีแล้ว ใช้ผลงานของ van Gogh เป็นร้อยๆ ชิ้นประกอบการสอนมาตลอดในวิชาจิตรกรรมและวิชาทฤษฎีสี

นอกจากนี้ ในฐานะของคนทำงานจิตรกรรมอย่างจริงจังและวิเคราะห์เป็น ผมรู้จักประวัติชีวิตและการทำงานของแวนโก๊ะดีกว่าคนในสังคมไทยโดยเฉลี่ย

 

 

ชื่อเสียงของแวนโก๊ะได้รับการยอมรับหลังจากการฆ่าตัวตายของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการรับอิทธิพลเรื่องการใช้สีของเขาโดยศิลปินกลุ่ม Fauvism และ German Expressionism

การสร้างสรรค์ของแวนโก๊ะทำให้การทำงานจิตรกรรมสามารถข้ามพ้นความคิดเรื่องการจำลองธรรมชาติภายนอกแบบเหมือนจริงได้

 

 

ในช่วงชีวิตของเขา แวนโก๊ะเป็นคนล้มเหลวและใช้ชีวิตแบบแย่ๆ (มาก) มีสิ่งเดียวในชีวิตของเขาเท่านั้นที่เขาไม่เคยละเลยและเข้มงวดกับมันอย่างถึงที่สุด

มันคือการทำงานจิตรกรรม และด้วยการใช้สีและวิธีการปาดป้ายพู่กันที่มีวัตถุประสงค์อันชัดเจน องค์ประกอบสองอย่างของการทำงานงานจิตรกรรมดังกล่าวนี้เป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในการทำงานศิลปะของเขา

 

 

ความสำเร็จทางจิตรกรรมของแวนโก๊ะเกิดขึ้นอย่างจริงจังในผลงานช่วงท้ายๆ ของชีวิตของเขาเท่านั้น พูดให้แคบลงอีกก็คือ

นับตั้งแต่เขาย้ายไปวาดภาพที่ Arles ในปี 1888-89 จนถึงการฆ่าตัวตายในปี 1890 อย่างไรก็ตาม ผลงานช่วงสุดท้ายในปารีสของเขา (1887) ก็มีคุณภาพสูงมากๆ แล้ว

ดังนั้น หลังจากการย้ายไป Arles เขาไม่เคยใช้สีคุณภาพต่ำเลย (ไม่เหมือนกับโกแกง ที่มีอะไรก็ใช้ไป สีในงานหลายชิ้นของโกแกงในปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “เฮงซวย” มากๆ)

 

 

มาจนถึงปัจจุบัน ประวัติชีวิตและการวาดภาพของแวนโก๊ะกระจ่างชัดหมดแล้ว แทบจะไม่มีอะไรเหลือให้ทำการศึกษาอีกแล้ว ทั้งในเรื่องภาพที่เขาวาด สี และวิธีการที่เขาใช้วาดภาพ

มันเป็นเหตุผลทำให้เราทุกคนที่มีโอกาสดูผลงานจริงของเขาเกิดความรู้สึกทึ่ง เพราะคุณภาพอันสดใหม่และความสวยงามของสีที่เขาใช้ ทั้งที่ผ่านกาลเวลามาเกินกว่าร้อยปีแล้ว

 

 

นอกจากนี้ วิธีการจำแนกภาพวาด (ยุคสมัยย่อยๆ ในชีวิตการทำงานของศิลปิน) ยังสามารถจำแนกได้ด้วยการสังเกตถึงวิธีการและลักษณะเฉพาะบางอย่าง เช่น ทักษะในการใช้สี วิธีการ และร่องรอยการปาดป้ายพู่กัน เป็นต้น

คุณเธออ้างว่ามันเป็นผลงานที่ถูกวาดขึ้นในปี 1888 ผมจึงหาภาพวาดปี 1888 ของแวนโก๊ะมาให้ดูกัน ถ้าสังเกตเรื่องสี จะพบว่าสีในภาพวาดทุกชิ้นของเขาใสกระจ่าง และภาพวาดเกือบทุกชิ้นมีความเป็นเลิศในเรื่องการใช้พู่กันที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ส่วนภาพที่เธอกล่าวอ้างนั้น, สำหรับผม, ถ้าดูวิธีการใช้พู่กัน มันเลอะเทอะครับ สะเปะสะปะ ขาดระเบียบและทักษะระดับสูงของการใช้พู่กันวาดภาพ พื้นฐาน drawing ยังไม่ดีพอ การใช้สีก็ธรรมดามาก เป็นเพียงงานเลียนแบบสไตล์การวาดภาพคุณภาพต่ำเท่านั้น

คงดูออกนะครับว่าภาพไหนเป็นภาพวาดของแวนโก๊ะ

 

 

โพสต์ดังกล่าวมีการแชร์ออกไปกว่า 1,500 ครั้งแล้ว และมีผู้เข้ามาแสดงเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ก็จะถกเถียงกันในชิ้นงานดังกล่าวเป็นหลัก

สามารถกดอ่านคอมเม้นต์ได้ในโพสต์ด้านล่าง

 

นอกจากนี้ ทางเว็บไซต์บีบีซี ยังรายงานข่าวว่าครั้งหนึ่ง “อุ๊ หฤทัย” เคยส่งภาพไปตรวจสอบ พิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะ ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

แต่โดนทางพิพิธภัณฑ์ปฏิเสธว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ผลงานของ “วินเซนต์ แวน โก๊ะ” แต่อย่างใด…

#ประธานเหมียว


by

Tags:

Comments

Leave a Reply