การศึกษาใครบอกว่าจะต้องมาจากโรงเรียนเท่านั้น ยิ่งนับวันวิทยาการยิ่งก้าวหน้า การศึกษาสิ่งต่างๆ จึงทำได้มากและลึกยิ่งขึ้น และนั่นทำให้บางครั้งความรู้ที่เราเรียนมาจากโรงเรียนอาจเป็นข้อมูลที่ เก่าและผิด ไปแล้วก็ได้
โดยเฉพาะวิชาชีววิทยาที่หลายคนชื่นชอบ (ยกเว้น #เหมียวโลลิ) ที่เนื้อหาของมันก็เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต เช่น คนเราวิวัฒนาการมาจากลิง เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความรู้ที่ผิดเช่นกัน
เอาล่ะ งั้นวันนี้เราไปชมกันเลยดีกว่ากับ 10 ความรู้ทางชีววิทยาจากโรงเรียน ที่คนเรายังเชื่อว่ามันถูก…
1. มนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิง
ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เราวิวัฒนาการมาจากลิงนั้นกลายเป็นข้อมูลที่ผิดไปเสียแล้ว ลิงในปัจจุบันต่อให้เหมือนกับคนเราขนาดไหน แต่ที่จริงแล้วมนุษย์เองก็มีบรรพบุรุษของเราอยู่จริงๆ เมื่อหลายล้านปีที่แล้ว เราเพียงแค่มีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่ไม่ได้เปลี่ยนจากลิงเป็นมนุษย์แต่อย่างใด
อ้างอิง: www.skeptic.com/downloads/top-10-evolution-myths.pdf
2. มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนยอดห่วงโซ่อาหาร
กลุ่มนักวิจัยชาวฝรั่งเศสได้ช่วยกันจัดลำดับห่วงโซ่อาหารใหม่ มนุษย์กลับกลายเป็นว่าไม่ได้อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อีกต่อไปแล้ว
เพราะการจะอยู่บนยอดของห่วงโซ่อาหารได้นั้น ต้องกินเฉพาะเนื้อสัตว์ที่อยู่ต่ำกว่าลงไปเท่านั้น แต่พฤติกรรมการกินของมนุษย์ที่กินทั้งเนื้อสัตว์และพืชนั้นถือว่าไม่ได้อยู่บนยอดของห่วงโซ่อาหาร
อ้างอิง: http://www.pnas.org/content/110/51/20617
3. หมากับแมวตาบอดสี
เป็นความเชื่อกันมายาวนานนับแต่การทดลองในปี 1915 ว่าหมาและแมวนั้นมองเห็นเพียงสีขาว-ดำ แต่ปัจจุบันการทดลองครั้งใหม่ได้ทำให้ทราบว่า พวกมันก็มองเห็นไม่ต่างกับมนุษย์เพียงแค่จะบอดสีแดงหรือไม่ก็เห็นสีแดงได้น้อยที่สุด แต่พวกมันไม่ได้มีปัญหากับสีอื่นเลย
อ้างอิง: http://www.todayifoundout.com/index.php/2012/01/both-cats-and-dogs-can-see-color/
4. มนุษย์มีสัมผัสเพียงแค่ 5 ชนิด
เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยของอริสโตเติลเลยทีเดียวสำหรับสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ ที่จริงมันมีมากกว่านั้นอีก ได้แก่ ความหิว ความกระหาย ความเจ็บปวด แรงดัน อุณหภูมิ ความเจ็บปวด ความสมดุล และความคัน
อ้างอิง: http://www.bbc.com/future/story/20141118-how-many-senses-do-you-have
5. ภาพแสดงการรับรสของลิ้น
เราอาจเคยเชื่อว่าลิ้นแต่ละส่วนนั้นรับรสชาติที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งขอบอกคำเดียวเลยว่า ลืมมันไปให้หมด! เพราะว่าที่จริงแล้ว รสชาติพื้นฐานทั้ง 5 ได้แก่ เปรี้ยว เค็ม หวาน ขม และอูมามิ (อร่อย กลมกล่อม) นั้นลิ้นทั้งดุ้นของเราสามารถรับได้ทั้งหมด ไม่มีการแบ่งส่วนนั่นเอง
อ้างอิง: https://www.livescience.com/7113-tongue-map-tasteless-myth-debunked.html
6. น้ำตาลทำให้ร่างกายตื่นตัวอย่างมาก
พ่อแม่หลายคนเชื่อว่าพฤติกรรมการไม่อยู่สุขของเด็กๆ นั้นมาจากการรับประทานอาหาร เช่น น้ำตาล แต่ล่าสุดการศึกษาวิจัยกลับไม่พบความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทานน้ำตาลและพฤติกรรมที่แสดงออก
อ้างอิง: http://bigthink.com/neurobonkers/believe-it-or-not-sugar-doesnt-cause-hyperactivity
7. มนุษย์ไม่สามารถสร้างเซลล์สมองใหม่ได้
หลายคนเชื่อไปแล้วว่าเมื่อเซลล์สมองตายลงจะไม่สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ แต่มีงานวิจัยหลายงานที่พบว่าที่จริงแล้วสมองของคนเราก็สร้างเซลล์สมองใหม่อยู่เสมอๆ กระบวนการนี้มีชื่อว่า Neurogenesis
อ้างอิง: https://www.the-scientist.com/?articles.view/articleNo/35902/title/Human-Adult-Neurogenesis-Revealed/
8. นกกระจอกเทศมักหลบซ่อนตัวโดยการมุดหัวลงทราย
หลายคนอาจได้ยินมาบ้าง หรืออาจจะเชื่อสนิทใจไปเลย อันที่จริงหากนกกระจอกเทศรู้สึกกลัวเมื่อไหร่ มันก็แค่วิ่งหนี แต่ถ้ามันวิ่งไม่ได้มันก็จะแกล้งนอนตาย
ส่วนการที่มันมุดหัวลงไปในทรายก็เพราะว่ามันกลืนเม็ดทรายลงไปช่วยย่อยอาหารในท้องต่างหาก หรือไม่ก็มันเป็นหลุมที่นกกระจอกเทศได้วางไข่ของมันเอาไว้
อ้างอิง: https://wonderopolis.org/wonder/do-ostriches-really-bury-their-heads-in-the-sand/ และ http://www.todayifoundout.com/index.php/2010/08/ostriches-dont-hide-their-heads-in-the-sand/
9. ปลาทองความจำสั้น
เรามักจะว่าคนที่ขี้หลงขี้ลืมว่า “ปลาทอง” ใช่ไหมล่ะ เพราะหลายคนเชื่อว่าปลาทองนั้นมีความจำสั้นเพียง 3 วินาทีเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันการทดลองหลายๆ งานนั้นพบว่า ปลาที่ถูกฝึกให้จดจำคำสั่งเสียงต่างๆ นั้นสามารถจำได้อยู่เป็นเดือนๆ เลยทีเดียว ส่วนปลาทองนั้นจำได้นานสุด 3 เดือนแน่ะ
อ้างอิง: http://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-1106884/Three-second-memory-myth-Fish-remember-months.html
10. ในโหนกอูฐมีน้ำเก็บเอาไว้
เป็นเรื่องจริงที่ว่าอูฐสามารถรอดชีวิตอยู่ในทะเลทรายได้หลายวันโดยไม่ต้องดื่มน้ำ แต่นั่นไม่ใช่เพราะอูฐเก็บน้ำเอาไว้หรอกนะ ที่จริงโหนกของอูฐมันมีเอาไว้กักเก็บเยื่อไขมันต่างหาก ซึ่งทำให้อูฐนั้นมีพลังงานใช้ได้หลายวันโดยไม่ต้องพึ่งอาหาร และส่วนที่เก็บน้ำได้ดีที่สุดในตัวอูฐก็คือไตและลำไส้นั่นเอง
อ้างอิง: http://www.animalplanet.com/wild-animals/do-camels-really-store-water-in-their-humps/
อย่างไรก็ตาม หากมีการศึกษาค้นพบเพิ่มขึ้น ความรู้ในปัจจุบันที่เราทราบมันก็อาจจะกลายเป็นความรู้ที่ผิดไปก็ได้เช่นกัน
ที่มา: brightside
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.