สาวเป็นโรควิตกกังวล เขียนรายละเอียดให้แฟนหนุ่มได้อ่าน เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่เป็นอยู่…

อาการหรือโรคที่เกี่ยวกับทางด้านจิตใจภายใน เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยากและยากที่จะเข้าใจได้สำหรับบุคคลที่ไม่ได้เป็น เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยได้ และควรจะรับมืออย่างไร…

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเผยว่า โรควิตกกังวล เป็นโรคทางจิตที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในอัตรา 1 ต่อ 13 คนทั่วทั้งโลก ความวิตกกังวลเหล่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ยากมากขึ้น แม้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ก็ตาม

 

Kelsey Darragh

 

Kelsey Darragh ได้แชร์ประสบการณ์เผยถึงโรควิตกกังวลของเธอ พร้อมกับเขียนรายละเอียดลงในสมุด เพื่อให้แฟนหนุ่มได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเธอและโรคนี้ เธอได้จดรายการ 15 สิ่งที่ควรทำเพื่อรับมือกับอาการของเธออย่างถูกต้อง

 

“ฉันเป็นโรคแพนิคกับโรควิตกกังวล แฟนฉันไม่ได้เป็น แต่เขาต้องการที่จะเข้าใจมันเพื่อที่เขาจะช่วยฉันได้ ฉันก็เลยทำลิสต์มาให้ แชร์ให้กับคนที่คุณรักเพื่อเป็นแนวทางนะ”

 

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตใจ เธอจึงทำลิสต์สิ่งที่ควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยให้แฟนหนุ่ม เพื่อที่จะรับมือได้อย่างถูกวิธี

 

15 สิ่งที่คุณสามารถช่วยให้ฉันก้าวผ่านอาการแพนิควิตกกังวลไปได้

1) ต้องรู้ก่อนว่าฉันกลัวจริงๆ แต่อธิบายไม่ถูกว่าคืออะไร เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งสติแตกหรือรำคาญกันเลยนะเธอจ๋า

2) หายามาให้ทันทีหากรู้ว่าอยู่ใกล้ๆ และต้องให้มั่นใจด้วยว่าฉันกินจริงๆ

3) การฝึกหายใจอาจจะทำให้รู้สึกหงุดหงิด แต่ก็จำเป็นสำหรับการควบคุมตัวฉันเอง ให้หายใจเป็นจังหวะพร้อมกับเธอ

4) ให้คำแนะนำอย่างอ่อนโยนเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะทำด้วยกันได้ เพื่อเบี่ยงเบนอาการกลัวออกไป (อย่าบอกว่าต้องทำหรือควรทำอย่างนู้นอย่างนี้) และพร้อมที่จะรับฟังเมื่อบอกปฏิเสธบางสิ่งบางอย่าง

5) สำหรับโรคตื่นกลัวกำเริบ เตือนฉันให้รู้ตัวว่ามันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว และมันจะผ่านไปได้เสมอ แต่มันก็น่ากลัวมากๆ เมื่อมันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็เล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับฉันไม่ก็เกี่ยวกับเราสอง จะช่วยสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้

6) จิบน้ำ อาจช่วยได้ แต่อย่าบังคับให้กินหรือดื่ม เชื่อฉันเถอะ เพราะฉันจะรู้สึกอยากอาเจียนได้

 

 

7) อยู่ช่วยหายใจเป็นเพื่อนในจังหวะที่พร้อมกัน

8) ถ้าเราสามารถออกไปจากที่ไหนสักแห่งได้ พาฉันตรงกลับบ้านเลย

9) ขอร้องว่ากรุณาทำตัวดีๆ กับฉัน ฉันรู้สึกไม่ชอบตัวเอง รู้สึกละอาย รู้สึกผิด ที่จะทำให้เธอต้องมาเจออะไรแบบนี้ และขอร้องว่าอย่าหงุดหงิดกันเลยนะ

10) บางครั้ง ‘การกอด’ นานๆ จะช่วยทำให้รู้สึกปลอดภัยขึ้นมาได้

11) ช่วยจับจังหวะหายใจอาจจะยาก แต่เป็นกุญแจสำคัญจริงๆ

12) ถ้าเกิดว่าอาการแย่มากๆ ให้โทรหาแม่ฉัน หรือไม่ก็เพื่อนสนิทมาคุยทันที

13) บอกฉันพยายามอย่าฝืนมัน ปล่อยให้มันผ่านตัวฉันไปเอง หากพยายามควบคุมมากเท่าไหร่ (หรือเธอเป็นคนพยายามควบคุม) มันจะแย่ยิ่งกว่าเดิม

14) เอาใจใส่ฉันเถอะ เธออาจจะไม่ได้อะไรกลับคืนไป แต่ความรู้สึกดีๆ มีให้แน่นอน

15) เมื่ออาการหายไปแล้ว เปิดบทสนทนาเกี่ยวกับมันให้ฉันฟัง เธอจัดการมันยังไง และเราควรจะทำอย่างไรในครั้งต่อไป (วางแผนล่วงหน้า)

 

ที่มา: @kelseydarragh, boredpanda

Comments

Leave a Reply