เป็นเรื่องที่รู้กันว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สุดยอดอัจฉริยะแห่งยุค ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมและเคยพูดไว้ว่า เหยียดเชื้อชาติเป็นโรคอย่างหนึ่งของคนขาวอีกด้วย
แต่รู้กันหรือไม่ว่าย้อนไปจากวันนั้น ในปี 1922 ปีเดียวกับที่เขาได้รับรางวัลโนเบล ไอน์สไตน์ได้ออกเดินทางเป็นเวลา 5 เดือนครึ่งพร้อมกับภรรยาของเขาไปยังซีกโลกตะวันออก ดินแดนแห่งใหม่ที่เขาไม่เคยไปมาก่อน
ไอน์สไตน์ได้พบกับกษัตริย์แห่งสเปน แถมยังได้เข้าพบจักรพรรดิญี่ปุ่นในการเดินทางครั้งนี้ โดยตลอดการเดินทางนี้ เขาได้บันทึกสิ่งที่พบลงบนบันทึกการเดินทางส่วนตัวอยู่ตลอด เพียงแต่เจ้าบันทึกนี่ล่ะ ที่กลายเป็นหลักฐานอย่างดีของแนวคิดเหยียดเชื้อชาติที่เขามี
บันทึกที่ว่าแสดงให้เห็นถึง การเหมารวมเอาเองต่อผู้คนในประเทศต่างๆ และการเหยียดเชื้อชาติของไอน์สไตน์เอาไว้ ตั้งแต่การที่ไอน์สไตน์กล่าวถึงชาวอียิปต์ว่า “พวกอาหรับทุกรูปแบบ…ราวกับผุดจากนรก” หรือการพูดถึงซีลอน (ศรีลังกาในปัจจุบัน) ว่า “อาศัยอยู่กับสิ่งสกปรกและกลิ่นเหม็นมาก”
แต่ดูเหมือนประเทศที่ไอน์สไตน์มีอคติด้วยมากที่สุดก็คงไม่พ้นประเทศจีนนั่นเอง โดยเขาพูดถึง เด็กชาวจีนว่า “โง่และขี้ขลาด น่าเศร้ามากถ้าคนเหล่านี้จะมาแทนที่เชื้อชาติอื่นๆ” และบอกว่าชาวจีนโดยทั่วไปนั้น “เหล่าคนที่ต้องทุบหินทุกวันแลกเงินเพียงน้อยนิด” “เหมือนหุ่นมากกว่าคน” และ “แทบแยกระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายไม่ออก”
อย่างไรก็ตามบันทึกเล่มนี้นั้นเขียนเอาไว้ก่อนที่ไอน์สไตน์จะย้ายมาอยู่ในสหรัฐอเมริกาในปี 1933 หลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซี ขึ้นปกครองเยอรมนี และพูดประโยคที่ว่า “การเหยียดเชื้อชาติเป็นโรคอย่างหนึ่งของคนขาว” ในปี 1946
ดังนั้นไม่แน่ว่าการเดินทางครั้งนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้มุมมองของเขาเปลี่ยนไปก็เป็นได้ หรือไม่ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับการที่เขาได้มาเป็นการปฎิบัติต่อคนดำในอเมริกาก็เป็นได้ เพราะเขาเองเคยตกใจที่รู้ว่ามีการแบ่งแยกโรงเรียนและโรงภาพยนตร์ของคนดำและคนขาวออกจากกัน
เป็นไปได้ว่าการเดินทางในครั้งนี้มีส่วนที่ทำให้คนๆ หนึ่งเติบโตขึ้นมามีมุมมองต่อโลกที่ดีขึ้นก็เป็นได้ คล้ายกับการที่ตอนเด็กๆ เราเคยทำผิดมาก่อน จึงโตขึ้นมารู้ว่าอะไรควรทำและอะไรที่ไม่ควรทำนั่นเอง
ที่มา bbc, nytimes, cnn, theguardian
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.