นักชีววิทยาพบกบป่าฝนในอำพันเก่าแก่มากที่สุดของโลก อายุ 99 ล้านปีที่พม่า

ในโลกใบนี้มีกบหลากหลายสายพันธุ์มากที่อาศัยอยู่ในเขตป่าฝน แต่ไม่น่าเชื่อว่าฟอสซิลของกบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชื้นเหล่านี้ จะมีอยู่น้อยมากจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอยู่เลยด้วยซ้ำ

ดังนั้นการค้นพบซากฟอสซิลที่ประเทศพม่าในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นเบาะแสที่สำคัญมากๆ ชิ้นหนึ่ง ที่จะนำเราไปสู่ชีวิตของเหล่ากบในโลกยุคดึกดำบรรพ์เหล่านี้เลยก็ว่าได้

 

 

ซากฟอสซิลของกบที่พบในครั้งนี้นั้น เชื่อกันว่าฝังอยู่ในก้อนอำพันตั้งแต่ยุค Cretaceous ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดของยุคไดโนเสาร์ และเป็นบรรพบุรุษของกบในเขตป่าฝน ซึ่งนับว่ามีความเก่าแก่มากถึง 99 ล้านปีเลยทีเดียว

แถมซากฟอสซิลที่พบในครั้งนี้ นับว่ามีความสมบูรณ์มาก เพราะว่าหนึ่งในอำพันสี่ชิ้นที่มีการค้นพบนั้น มีซากของกบดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ใหม่ฝังอยู่ทั้งตัว โดยในปัจจุบันสายพันธุ์ที่ว่านี้ ได้รับการตั้งชื่อว่า Electrorana limoae 

พวกเขาเชื่อว่าในตอนที่ยังมีชีวิตกบพวกนี้มีขนาดเล็กว่าหนึ่งนิ้วเสียอีก และมีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับกบและคางคกในปัจจุบัน อย่างคางคกท้องไฟ (Fire-Bellied Toads) และคางคกหมอตำแย (Midwife Toads)

 

 

David Blackburn นักชีววิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติฟลอริดากล่าวว่า “การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของ Electrorana นี้ถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก” เพราะด้วยความที่กบมีขนาดเล็ก และยังอาศัยอยู่ในป่าฝนเขตร้อน ทำให้ “แทบจะไม่มีโอกาส” กลายเป็นซากฟอสซิลเลย

การค้นพบในครั้งนี้จะสามารถบอกให้เราทราบว่าเหล่ากบนั้น อาศัยอยู่ในแถบป่าชื้นมานานแค่ไหน ซึ่งโดยเบื้องต้นแล้ว หากดูซากฟอสซิลที่พบ เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าอย่างน้อย ๆ ก็ราว 100 ล้านปีก่อน

 

 

และนอกจากกบพวกนี้แล้ว นักวิจัยยังพบพืช, แมงมุม และแมลงอีกหลายชนิด และแม้กระทั่งหอยทะเล ซึ่งชี้ว่ากบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีระบบนิเวศแบบป่าเขตร้อน อบอุ่น ชื้น ที่มีทะเลสาบน้ำจืดอีกด้วย

นี่นับเป็นซากฟอสซิลกบป่าฝนที่เก่าแก่มากที่สุดของโลกเลยก็ว่าได้ และเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าการค้นพบในครั้งนี้ จะสามารถนำไปสู่การค้นพบใหม่ๆ ของกบป่าฝนดึกดำบรรพ์อีกมากมายในอนาคต

 

ที่มา bbcfuturityndtvnationalgeographic


Tags:

Comments

Leave a Reply