ยุคสมัยปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ในทันที และสามารถเลือกที่จะรับรู้ข้อมูลชุดต่างๆ ตามความสนใจของตัวเองได้
ทั้งนี้ ข้อมูลบางอย่างในบางประเทศไม่สามารถถูกนำเสนอได้ เนื่องจากยังคงมีเรื่องของข้อกฎหมายบังคับใช้อยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็ตาม
ข้อมูลจากทางเว็บไซต์ Freedom House องค์กรไม่หวังผลกำไรระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ประเมินระดับสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วโลกทุกปี โดยชุดข้อมูลล่าสุดในปี 2017 ได้ถูกประมวลผลนำเสนอออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนนี้จะพูดถึงเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต (Freedom on the Net) โดยภาพรวมในปี 2017 จากแผนภาพการจัดการสื่อโซเชียลจากหลายประเทศทั่วโลก พร้อมกับคะแนน 0 – 100 ยิ่งคะแนนสูง ยิ่งปิดกั้นเสรีภาพ
สามารถแบ่งกลุ่มประเทศออกเป็น 4 กลุ่ม 4 สี ได้แก่ สีเขียว – มีเสรีภาพ สีเหลือง – มีเสรีภาพบางส่วน สีม่วงอ่อน – ไม่มีเสรีภาพ และ สีเทา – ไม่มีการประเมิน
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีม่วง 67 คะแนนในปี 2017
โดยตัวแปรของคะแนนที่ประเทศไทยได้รับนั้น มีการควบคุมพื้นที่อินเทอร์เน็ต 6 ประการดังต่อไปนี้
1) การปิดกั้นเนื้อหาทางด้านการเมือง สังคม และศาสนา
2) มีฝ่ายหนุนรัฐบาลตีกรอบข้อมูลให้เป็นไปตามที่รัฐบาลเห็นชอบ
3) กฎหมายเพิ่มอำนาจการปิดกั้นข้อมูล (เซ็นเซอร์/บล็อค)
4) กฎหมายเพิ่มอำนาจการเฝ้าระวังและสอดส่อง
5) การฟ้องร้อง/จับดำเนินคดี ในประเด็นเสรีภาพในการพูด
6) ความรุนแรงทางกายภาพ (ทำร้ายร่างกายจากการแสดงออกในโลกออนไลน์ และการซ้อมทรมานระหว่างถูกคุมขัง)
เทียบผลคะแนนตั้งแต่ปี 2015 – 2017 จาก 63 เพิ่มเป็น 66 และ 67 คะแนน
เมื่อนำตัวแปรทั้งหมดมาประกอบกัน สามารถแบ่งออกเป็น 3 หมวดคะแนน 10-24-33 รวมทั้งสิ้น 67 คะแนน (ไม่มีเสรีภาพ)
– อุปสรรคในการเข้าถึง 10/25 คะแนน
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนั้นมีราคาไม่แพง แต่ต้องเผชิญกับการควบคุมที่เข้มงวดจากรัฐบาล ทั้งผ่านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เคลื่อนที่
ระหว่างการประเมินผลทางรัฐบาลทหารพยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อควบคุมทุกความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ (Single Gateway)
– การจำกัดเนื้อหา 24/35 คะแนน
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างการประเมินผล นำไปสู่การควบคุมเนื้อหาออนไลน์อย่างเข้มงวด คสช. ห้ามให้มีการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติ และยิ่งควบคุมมากขึ้นหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเดือนตุลาคม 2559
จากนั้นรัฐบาลทหารได้จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อควบคุมสื่อ รวมไปถึงบล็อกเกอร์เล็กๆ ด้วย แต่ทว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ยังคงดำเนินต่อไป
– การละเมิดสิทธิของผู้ใช้ 33/40 คะแนน
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2560 แต่ผู้นำสูงสุดของ คสช. ยังคงกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ในช่วงไว้อาลัยที่ผ่านมา การละเมิดสิทธิมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
กลุ่มธรุกิจหรือผู้สนับสนุนการปกครอง ทำการแจ้งข้อหาเป็นคดีอาญาต่อผู้ที่ทำการวิพากษ์วิจารณ์ มีการเพิ่มข้อกฎหมายใหม่ รวมไปถึงอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาเบื้องต้นเป็นการสรุปตามรายงานของ Freedom House เพียงเท่านั้น ท่านสามารถอ่านข้อมูลเต็มๆ ได้จากรายงานผ่านเว็บไซต์องค์กรโดยตรง (วาร์ป)
เรียบเรียงข้อมูลจาก freedomhouse.org โดย #เหมียวเลเซอร์
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.