6 เรื่องที่เราเรียนรู้ จากเหตุ “น้ำท่วมใหญ่ญี่ปุ่น” แม้จะสูญเสีย แต่พร้อมรับมืออยู่เสมอ

เชื่อว่าพวกเราคงได้ทราบข่าวฝนตกหนักทางฝั่งตะวันตกของ ประเทศญี่ปุ่น กันไปแล้ว ซึ่งมันได้ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ดินถล่ม ประชาชนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 112 คน สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก

แต่แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นต้องเจอกับภัยพิบัติอันใหญ่หลวง แดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ผ่านการสูญเสียมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในฮิโรชิม่า ปี 1945 เป็นต้นมา

 

 

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะถูกจัดเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ต้องเจอกับความสูญเสียครั้งใหญ่มามากที่สุดในโลก แต่ทุกครั้งพวกเขาก็สามารถก้าวผ่านมันมาได้อย่างไม่ย่อท้อ ฟื้นฟู และเรียนรู้ที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆ ต่อไป

จนมาถึงในวันนี้ เมื่อน้ำท่วมครั้งใหญ่ก่อปัญหาสร้างความเดือดร้อน คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก แต่ภายใต้ความโศกเศร้าเสียใจที่เกิดขึ้น ทั่วโลกก็ยังคงได้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ยอมแพ้และยังคงพยายามที่จะก้าวผ่านมันไป

 

 

#เหมียวตะปู จึงขอพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้จากประเทศญี่ปุ่น ว่าทำไมพวกเขาถึงนับว่าประสบความสำเร็จกับการรับมือภัยพิบัติต่างๆ ลดการสูญเสียให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

1. ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพวกเขานั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถสังเกตเห็นได้โดยทั่วไป แต่เมื่อไหร่ที่เกิดภัยพิบัติ คนญี่ปุ่นจะไม่ละทิ้งกันแต่จะคอยช่วยกันพยุงให้รอดผ่านวิกฤตครั้งนั้นๆ ไป

เราจะเห็นจากสื่อในต่างประเทศแทบทั้งหมดว่าพวกเขามักอยู่รวมกัน ส่วนไหนที่หยิบยื่นให้กันได้ พวกเขาก็พร้อมที่จะแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของน้ำ อาหาร หรือที่พักอาศัย/ที่หลบภัย

 

 

2. ความเห็นอกเห็นใจคนแปลกหน้า

จากบทความหนึ่งของนักเขียน Robert Twigger ผู้เคยไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่คนเมาขึ้นรถไฟฟ้ามาด้วยสภาพเมาแอ๋ แต่คนรอบข้างก็ไม่ได้แสดงทีท่ารังเกียจแต่อย่างใด

แต่ทว่ากลับมีชาวบ้านวัยกลางคนหยิบยื่นกระดาษทิชชู่ไปให้หนุ่มเมาแอ๋คนนั้นแทน แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นคนแปลกหน้า แต่เมื่อคนคนนั้นอยู่ในสภาพต้องการความช่วยเหลือ ทุกคนก็พร้อมที่จะหยิบยื่นสิ่งนั้นให้เสมอ

ภัยพิบัติครั้งนี้เองก็เช่นกัน ผู้ประสบภัยกว่า 5.9 ล้านคนต่างรอคอยน้ำใจจากคนร่วมชาติ หวังที่จะอพยพออกไปอย่างปลอดภัย และมันก็เป็นไปตามที่พวกเขาคาดหวังเอาไว้

 

 

3. จิตอาสา

2 สิ่งที่พูดถึงในตอนแรกได้นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าอาสาสมัคร ในทุกๆ ครั้งที่มีภัยพิบัติ ผู้คนทั้งประเทศไม่ใช่แค่ในพื้นที่นั้นๆ หรือใกล้เคียง พวกเขาเหล่านั้นพร้อมที่จะสละเวลาของตัวเองเพื่อเดินทางมาช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติในทันที

เพราะแน่นอนว่าเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ทีมช่วยเหลือท้องถิ่น หรือกองกำลังป้องกันตัวเอง รวมแล้วจำนวนกว่า 73,000 คน ยังถือว่าไม่เพียงพอกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกว่า 5.9 ล้านคนให้ได้ดีที่สุด

 

 

ผู้คนที่ได้ทราบข่าวจึงมีความตั้งใจเดินทางเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ดังเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ เมื่อปี 2011 ที่มียอดอาสาสมัครภายในประเทศเดินทางไปช่วยเหลือเกือบ 1.4 ล้านคน

หนึ่งในนั้นคือนาย Keisuke Kajiwara ที่เดินทางไกลไปกว่า 1,600 กิโลเมตร มาเป็นอาสาสมัครรับการติดต่อจากผู้ประสบภัยในการอำนวยความช่วยเหลือด้านต่างๆ

 

 

4. สู้ไม่ถอย แทบทุกสิ่งคือพรแสวง ไม่ใช่พรสวรรค์

ชาวต่างชาตินิยามความไม่ย่อท้อของชาวญี่ปุ่นเอาไว้ว่า Japanese Spirit อันหมายถึงกำลังใจที่ไม่ยอมแพ้ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังใจอันมหาศาล

พวกเขาเชื่อว่าแทบทุกเรื่องขึ้นอยู่กับการฝึกฝน เพียรพยายาม นำไปสู่การประสบความสำเร็จ เรียกว่าใส่ใจให้ความสำคัญกับคำว่าพรแสวง มากกว่าพรสวรรค์

 

 

คำว่า Japanese Spirits นี้ก็ไม่เคยจางหายไปจากใจของชาวญี่ปุ่นเลย

จากบทความของนักเขียน Alexander N. Meshcheryakov เล่าว่า แม้ภายนอกญี่ปุ่นอาจดูเปลี่ยนไปมาก ไม่ได้ใส่กิโมโนเหมือนเมื่อก่อน รับความเป็นตะวันตกเข้าไป หรือเด็กรุ่นใหม่ดูสนใจแต่เรื่องส่วนตัวไม่เหมือนรุ่นก่อน

แต่ Alexander ก็เล่าว่าจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่นนั้นแท้จริงแล้วยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขาไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ถึงจะเกิดภัยพิบัติ แต่ก็จะไม่มีกายลักเล็กขโมยน้อยหรือฉวยโอกาสในเวลานั้น

ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็จะถูกพบเห็นได้ว่าพวกเขาคือกลุ่มอาสาสมัครส่วนใหญ่ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ และนั่นเองที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า Japanese Spirits

 

 

5. ความรับผิดชอบในเรื่องบทบาทหน้าที่ของตน

คำว่า “บทบาทหน้าที่” ต้องมาก่อน ชาวญี่ปุ่นมีความพยายามทำหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองให้ออกมาดีที่สุดเสมอ

ยกตัวอย่างจากบทความของ Robert เล่าถึงคนทำแซนด์วิชในโตเกียว ที่ถึงแม้จะบ่นว่าเบื่อในงานที่ทำมากเพียงใด แต่เขาก็จะทำแซนด์วิชออกมาอย่างดีที่สุด เท่าเทียมกันกับลูกค้าทุกคน

และนั่นก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่มีวันละทิ้งหน้าที่ตราบใดที่ยังคงต้องรับผิดชอบมันอยู่ ไม่ใช่ประเภทที่ว่าจะทำงานออกมาดีก็ต่อเมื่อ “อยากจะทำ” เท่านั้น

 

 

เช่นเดียวกันกับความช่วยเหลือระหว่างภัยพิบัติ แต่ละส่วนแต่ละหน่วยงานต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ใช่ว่าจะนั่งรอให้มีคำสั่งอะไรลงมา เพราะพวกเขาคือคนที่พร้อมทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดอยู่เสมอ

จึงกลายเป็นเหมือนการทำงานแบบปัจเจกของแต่ละส่วน รวมกันเหมือนเป็นทีมๆ หนึ่ง ที่มีจุดศูนย์กลางคือการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทำให้การทำงานมีความรวดเร็ว

 

 

6. ไม่รอคอยการช่วยเหลือของเทพเจ้า

ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้า เพียงแต่พวกเขาตั้งใจแล้วว่าจะไม่รอคอยความช่วยเหลือจากจุดนั้น

ยกตัวอย่างเรื่องของเทพ Takemikazuchi ผู้คอยนำก้อนหินใหญ่ไปทับตัวปลาในพื้นโลก แต่เมื่อไหร่ที่เขาหลับปลาจะดิ้นอย่างแรงเพื่อพยายามหนีออกไป จนทำให้เกิดเหตุแผ่นดินไหว ต้องรอให้เทพองค์นี้ตื่นขึ้นมาทำหน้าที่อีก

 

 

แต่ในปี 1945 จักรพรรดิโชวะ ได้ออกมากล่าวกับประชาชนทุกคนภายหลังการถล่มของระเบิดนิวเคลียร์ว่า “พวกเราพิสูจน์แล้วว่า เราคือชนชาติที่สามารถอดทนก้าวผ่านความยากลำบากอันแสนสาหัสอย่างที่ไม่น่าจะทนรับได้”

ด้วยเหตุนั้นเอง ไม่ว่าปลาจะดิ้นสักกี่ครั้ง ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นบ่อยมากเพียงใด แต่ชาวญี่ปุ่นก็จะรีบฮึดสู้ไม่รอให้เทพองค์ใดมาช่วย เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองสามารถจัดการและกอบกู้ประเทศขึ้นมาได้เสมอ

 

แหล่งที่มา: time , Hirohito , Takemikazuchi , nippon , roberttwigger , independent , newstatesman , japantimes

เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู

Comments

Leave a Reply