ในอดีตหลักฐานการค้นพบขนมปังเก่าแก่ที่สุดคือที่ประเทศตุรกี ซึ่งมีอายุอยู่ที่ราวๆ 9,000 ปีก่อน ดังนั้นจึงมีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่า คนเราเพิ่งจะมีการปรุงอาหารเมื่อราวๆ หนึ่งหมื่นปีก่อน และก่อนหน้านั้นมนุษย์ทานอาหารเพียงเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น
แต่แล้วความคิดเหล่านั้นก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อล่าสุดนี้ทางนักโบราณคดีได้มีการค้นพบขนมปังในยุคเก่าแก่ ที่มีอายุมากถึง 14,400 ปี มันเป็นเศษอาหาร 24 ชิ้น ที่มีขนาดกว้างโดยเฉลี่ย 4.4 มิลลิเมตร ยาว 5.7 มิลลิเมตร และหนา 2.5 มิลลิเมตร ซึ่งหากส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบร่องรอยของการบดและการนวด
นี่เป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นที่โบราณสถานยุคหินซึ่งอยู่ในทะเลทรายทางตอนเหนือของประเทศจอร์แดน โดยเป็นเศษขนมปังรูปแบบโบราณที่มีลักษณะแห้งแข็ง แทบจะไม่มีคุณค่าทางอาหาร และเชื่อว่าทำขึ้นจากข้าวสาลีป่า ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต
อย่างไรก็ตามขนมปังที่พบนั้น เชื่อกันว่าไม่ได้ทำขึ้นเพื่อคุณค่าทางโภชนาการ แต่เป็นการทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางวัฒนธรรม สังคม หรืออุดมการณ์ เนื่องจากสถานที่ค้นพบนั้นมีสิ่งปลูกสร้างที่ต่างไปจากที่อยู่อาศัยในยุคนั้น และมีความคล้ายคลึงกับสถานที่ประกอบพิธีกรรม
ซึ่งนั่นหมายความว่าในสมัยก่อน อาจจะมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมมากกว่าที่พวกเราเคยคิดไว้
นอกจากนี้ขนมปังที่ค้นพบยังมีอายุมากกว่าการทำการเกษตรครั้งแรกถึง 3,500 ปี ทำให้เชื่อกันว่าการทำขนมปังเหล่านี้ออกมานั้น อาจจะหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติทางการเกษตรในสมัยนั้นเลยก็เป็นได้
นี่เป็นถือว่าเป็นหนึ่งในการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการอาหารการกินในอดีตของมนุษย์ และทีมนักวิทยาศาสตร์เองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารของคนสมัยก่อนได้มากขึ้นจากการค้นพบในครั้งนี้
ที่มา dailystar, independent, dailymail
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.