ภารกิจ
ในวันที่ 20 กรกฎาคมปี 1969 เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของนาซ่า ที่สามารถส่งนักบินอวกาศไปถึงดวงจันทร์ได้สำเร็จ และสามารถเก็บหินตัวอย่างบนดวงจันทร์ ถ่ายรูปภาพ ทำการทดสอบต่างๆ รวมถึงปักธงลงบนดวงจันทร์ และเดินทางกลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัยผ่านมากว่า 45 ปีแล้วที่ภารกิจเยือนดวงจันทร์ครั้งล่าสุดในเดือนธันวาคม ปี 1972 ของอะพอลโล 17 ก็จบลงอย่างสมบูรณ์ และไม่มีการส่งมนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์อีกเลย…
มันเกิดอะไรขึ้นกับยุคปัจจุบัน ที่มีเทคโนโลยีทางอวกาศก้าวหน้ากว่า 4 ทศวรรษที่แล้ว การจะขึ้นไปสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์เพื่อสร้างเป็นสถานีเติมเชื้อเพลิงบนอวกาศ คงมีความเป็นไปได้มากขึ้นหากมีการสำรวจที่มากกว่านี้ และไม่แน่ว่าอาจจะส่งเสริมการท่องเที่ยวดวงจันทร์เพิ่มขึ้นมาด้วย
“การวิจัยการอยู่อาศัยอย่างถาวรของมนุษย์บนดวงจันทร์คือก้าวต่อไปในทางตรรกะ เรามีข้าวของมากมากที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ จากนั้นก็เอามาทดสอบตามลำดับขั้นเพื่อเรียนรู้ก่อนจะออกไปข้างนอกนั่น” Chris Hadfield อดีตนักบินอวกาศ กล่าวกับทาง Bussiness Insider
Chris Hadfield
แต่นักบินอวกาศและผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างชี้ว่า อุปสรรคในการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากปัญหาของงบประมาณที่บานปลายและปัญหาทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องปัญหาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเลย…
ภารกิจที่จะต้องส่งคนขึ้นไปในอวกาศนั้นจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ด้วยข้อกฎหมายบังคับในปี 2017 ลงนามโดยประธานาธบดีโดนัลด์ ทรัมป์ งบประมาณรายปีของนาซ่าถูกจัดให้เป็น 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจจะได้เพิ่มเป็น 19.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2019
มูลค่าตัวเลขอาจจะเหมือนเยอะ แต่ทั้งนี้จะถูกแบ่งให้กับหน่วยงานยิบย่อยภายในอีกเพียบ พร้อมกับโปรเจกต์ทางด้านอวกาศอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ ส่วนงบประมาณทางการทหารนั้นได้รับไป 600 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
จากรายงานในปี 2005 ของนาซ่า งบประมาณที่จะต้องใช้ในการเดินทางไปและกลับดวงจันทร์จะต้องใช้สูงถึง 104,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (133,000 ล้านในปัจจุบันบวกอัตราเงินเฟ้อ) และโปรเจกต์อะพอลโลจะต้องใช้ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยค่าเงินในปัจจุบัน
“การส่งคนออกไปสำรวจอวกาศเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทุนสูง โดยส่วนมากแล้วจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางฝ่ายการเมือง ยกเว้นเสียแต่ว่าทางสภาจะเจียดเงินมาใส่ใจตรงนี้ ที่ผ่านมาเกิดเพียงแค่การหารือเท่านั้น
ในส่วนของภารกิจสำรวจดาวอังคารและกลับไปเยือนดวงจันทร์นั้น งบประมาณของนาซ่ามีน้อยเกินไปที่จะทำอะไรแบบนั้นได้” Walter Cunningham อดีตนักบินอวกาศอะพอลโล 7 เปิดเผยกับสื่อมวลชน
นอกจากเรื่องงบประมาณแล้ว ปัญหากับประธานาธิบดีก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด อย่างเช่นในปี 2004 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช มอบหมายให้นาซ่าหายานใหม่มาแทนยานเก่า และเดินทางไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง
โปรเจค Constellation
โครงการ Constellation จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะให้นักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ได้ ด้วยจรวด Ares และกระสวย Orion
นาซ่าใช้เงินไป 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการออกแบบ สร้าง และทดสอบโครงการดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี จนกระทั่งประธานาธิบดีโอบาม่ามารับช่วงต่อ และมองเห็นว่าทางนาซ่าไม่สามารถจำกัดงบกับโครงการนี้ได้ สั่งยกเลิกและโยกงบไปพัฒนาระบบยิงกระสวยอวกาศแทน
และการมาของทรัมป์ที่ยังไม่ยกเลิกพัฒนาระบบยิงกระสวยอวกาศ แต่เลือกเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นดาวเคราะห์น้อย แทนที่ดวงจันทร์และดาวอังคาร
ด้วยการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นบ่อย ความสำคัญของนาซ่าจึงถูกลดทอนลงจนนำไปสู่การล้มเลิกโครงการซ้ำแล้วซ้ำอีก สูญเสียงบไปโดยสูญเปล่าประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูญเสียทั้งเวลาและความต่อเนื่อง
“ผมรู้สึกผิดหวังที่พวกเขาทำอะไรได้เชื่องช้าและหันไปทำอย่างอื่นแทน ผมไม่ตื่นเต้นกับอะไรอีกต่อไปแล้วในอนาคต ผมทำได้แค่รอให้มันเกิดขึ้นเท่านั้น” Jim Lovell นักบินอวกาศอะพอลโล 8 ให้สัมภาษณ์กับ Bussiness Insider
“ยังดีที่มีมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ที่เป็นพวกคลั่งอวกาศ นวัตกรรมอวกาศได้ก้าวหน้าไปมากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามีแค่นาซ่า โบอิ้ง และล็อกฮีด เพราะไม่มีทางที่จะลดต้นทุนกับวิธีการในแบบของเราได้เลย” Jeffrey Hoffman กล่าวกับนักข่าวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สิ่งที่เขากำลังพูดถึงก็คือผลงานจากบริษัทเอกชน SpaceX ของ Elon Musk และ Jeff Bezos ผู้เป็นเจ้าของ Amazon ที่สร้างบริษัททางด้านอวกาศ Blue Origin อย่างลับๆ
“ผมไม่มีคำถามคาใจอะไร ถ้าเราอยากจะก้าวหน้าไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะถ้าเราจะไปได้ไกลกว่าดวงจันทร์ เราต้องมีกระสวยแบบใหม่ ตอนนี้เรายังย่ำอยู่กับที่วนเวียนกับเรื่องเดิมๆ…” Hoffman เสริม
ผมหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะผ่านพ้นไป เมื่อพวกเขาตั้งใจจะกลับไปดวงจันทร์และตั้งใจจะไปดาวอังคารจริงๆ อาจจะไม่เกิดในชั่วชีวิตของผม แต่ผมหวังว่าพวกเขาจะทำได้สำเร็จ” Lovell ปิดท้าย
ที่มา: businessinsider, inquisitr
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.