เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม 2561 ได้มีการจัดสอบ ก.พ. (ภาค ก) ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปหมาดๆ จนกระทั่งหลังจากเสร็จสิ้นการสอบ มีโจทย์หนึ่งข้อที่กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างคับคั่ง
เนื่องจากโจทย์ข้อดังกล่าว เป็นได้ทั้งแนวคิดทางคณิตศาสตร์และการนำหลักตรรกะมาใช้ประกอบกัน ชาวเน็ตบางรายก็ชี้เป็นความรู้พื้นฐานที่เคยเรียนกันมาในระดับมัธยม หลักการง่ายๆ แต่ด้วยลักษณะที่ต้องตีโจทย์หลายชั้น จึงทำให้หลายคนทำข้อสอบข้อนี้ไม่ได้…
โจทย์ถามว่า “รถยนต์สองคันอยู่ห่างกัน 40 กิโลเมตร วิ่งเข้าหากัน รถคันแรกวิ่งด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คันที่สองวิ่งด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
มีแมลงวันอยู่หน้ารถคันหนึ่งบินด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปยังรถอีกคันหนึ่ง พอไปถึงแล้วบินกลับมาที่รถอีกคัน บินสลับอย่างนี้เรื่อยไปจนรถทั้งสองคันวิ่งมาชนกัน ถามว่าแมลงวันตัวนี้บินได้ระยะทางกี่กิโลเมตร”
แน่นอนว่าอ่านจากโจทย์แล้ว ก็กลายมาเป็นข้อกังขาในวงกว้าง เนื่องจากโจทย์แบบนี้จะต้องวิเคราะห์ตามหลักตรรกะ และตีโจทย์ให้ออกมาเป็นสมการแทนค่าต่างๆ ลงไป แล้วจึงคำนวณออกมาเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
จนเพจเตรียมสอบของ อ.ทัด ปฐมภณณ์ ติวเตอร์สอบราชการ ได้ออกมาโพสต์วิจารณ์ข้อสอบข้อนี้ว่า “ไม่ได้คำนึงความเป็นจริงว่าตอนนี้แค่วัดพื้นฐานของคนที่จะเป็นราชการ ออกข้อสอบภาค ก ให้ยากเพื่อคัดคนไปแข่งขันคณิตโอลิมปิก หรือวัดพื้นฐานคนที่จะมาเป็นข้าราชการ”
หลังจากดราม่ากันไปมา อ.ทัด ได้ให้สัมภาษณ์กับทางรายการทุบโต๊ะข่าว ของอมรินทร์ทีวี ออกมาเฉลยวิธีการคำนวณของโจทย์ในข้อนี้ ด้วยสมการ อัตราความเร็ว(v) = ระยะทาง(s)/เวลา(t) แต่สิ่งที่โจทย์ไม่ได้บอกคือ เวลา(t)
เพราะฉะนั้นจะต้องหาเวลาให้ได้ก่อน จากนั้นจึงนำมาคูณกับความเร็วของแมลงวัน เพื่อเทียบระยะทางกับเวลาของแมลงวัน
ก่อนจะถอดสูตรให้ครบตามขั้นตอน นำความเร็วของรถทั้งสองคันมาบวกกัน พร้อมกับระยะทาง 40 กิโลเมตร เพื่อหาเวลาที่รถทั้งสองคันมาชนกันซึ่งจะได้ 0.4 ชั่วโมง
จากโจทย์แมลงวันบินเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นำมาคูณกับ 0.4 จะได้คำตอบเป็น 32 กิโลเมตร อันเป็นระยะทางที่แมลงวันจะต้องบินจนกว่ารถจะมาชนกัน
หรืออาจจะแทนสมการด้วยวิธีอื่นๆ ที่สามารถใช้แทนกันได้
.
ทั้งนี้ อ. ทัด ได้ปิดท้ายไว้ว่า ข้อสอบแนวดังกล่าวคนทั่วไปจะมองว่ายาก แต่สำหรับคนที่ถนัดทางด้านนี้จะมองว่าง่าย เนื่องจากได้ใช้ความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว เป็นเพียงแค่การถอดสมการ แต่โดยภาพรวมของโจทย์แล้วอาจจะไม่ตรงกับงานราชการทั่วไปเท่าไหร่นัก
ที่มา: @awsgorpor, @touch.pathomphon, amarintv
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.