ถ้าหากว่าพูดถึงฟาโรห์ของอียิปต์ หลายๆ คนอาจจะมีชื่อของฟาโรห์ในใจต่างๆ กันไป แต่ถ้าหากพูดถึง “คำสาปฟาโรห์” แล้วล่ะก็หลายๆ คนคงจะนึกออกเพียงแค่ฟาโรห์ “ตุตันคาเมน” (หรือ ตุตันคามุน) เท่านั้น
ว่าแต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้? ทำไมฟาโรห์องค์หนึ่งถึงได้มีชื่อเสียงต่างไปจากฟาโรห์องค์อื่นๆ ได้มากมายขนาดนั้น ในวันนี้ #เหมียวศรัทธา จะพาเพื่อนๆ ไปพบกับเบื้องหลังของความโด่งดังของฟาโรห์ตุตันคาเมนเอง
ภาพใบหน้าของฟาโรห์ตุตันคาเมนที่สร้างขึ้นด้วยระบบจำลองใบหน้าจากกะโหลก
เดิมที่แล้วฟาโรห์ตุตันคาเมน มีพระนามในยามประสูติว่า “ตุตันคาเตน” โดยเป็นการตั้งชื่อตามเทพอเตนที่พระบิดาของพระองค์นับถือ หลังจากที่พระบิดาของพระองค์สวรรคต พระองค์ก็เปลี่ยนพระนามเป็น “ตุตันคาเมน” อย่างที่ทราบกันในปัจจุบัน
ถึงอย่างนั้น ในขณะที่ยังมีชีวิตฟาโรห์ตุตันคาเมนกลับไม่ได้มีผลงานใดๆ ที่โดดเด่นมากนัก พระองค์ครองราชย์เพียงแค่ 10 ปี แถมยังสวรรคตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์อีกด้วย
อย่างไรก็ตามชื่อเสียงของฟาโรห์ตุตันคาเมนนั้นมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ท่านสวรรคตต่างหาก ด้วยความที่สาเหตุการสวรรคตของท่านนั้นยังเป็นปริศนา บวกกับการทำมัมมี่ของพระองค์แตกต่างจากมัมมี่อื่นๆ อยู่มาก
ร่างของพระองค์ถูกทาเป็นสีดำ อีกทั้งยังไม่มี “หัวใจ” อวัยวะชิ้นเดียวที่ตามปกติจะถูกใส่ไว้ในร่างขณะมีการทำมัมมี่ นอกจากนี้พระองค์ยังถูกฝังพร้อมกับอวัยวะเพศที่ตั้งชูชัน โดยเชื่อกันว่าเป็นการทำให้ท่านเป็นตัวแทนของเทพโอซิริส
นอกจากนี้ตัวสุสานของพระองค์เองก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน เพราะด้วยความที่ตัวสุสานมีความสมบูรณ์มากแม้ว่าจะมีคนแอบเข้ามาขุดเป็นบางครั้ง ทำให้สุสานของพระองค์กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่มีค่าในทางประวัติศาสตร์ไป
แต่ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่พระองค์มีชื่อเสียงที่สุดหลังจากสวรรคตก็คงไม่พ้น “คำสาปฟาโรห์” นั่นเอง
โดยมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดสุสานเมื่อปี 1922 ในเวลานั้นมีข่าวลือที่ว่าบรรดาคนที่เข้าไปรบกวนสุสานของท่านจะต้องมีอันเป็นไปกันทีละคนสองคน ซึ่งหากข้อมูลจากคำบอกเล่าเป็นความจริง จะมีผู้เสียชีวิตจาก “คำสาป” ที่ว่านี้สูงถึง 22 คน
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีหลักฐานมารองรับ “คำสาป” ที่ว่านี้ก็ตาม แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็กลายเป็นบ่อเกิดของแรงบันดาลใจ ให้แต่เหล่านักเขียน และผู้กำกับจำนวนมาก นำมาซึ่งภาพยนตร์ชื่อดัง ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง
ที่มา wikipedia, historytoday, historyextra, gypzyworld, gotoknow, britannica, profilebooks
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.